วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

บทความเกี่ยวกับมาเลย์เซีย 1

บทบาทชนชั้นนำมาเลย์กับการได้รับเอกราชของมลายา (1)
การที่มาเลเซีย หรือมลายาในอดีตนั้น ได้รับเอกราชบนพื้นฐานของความประนีประนอม ระหว่างเจ้าอาณานิคม และดินแดนอาณานิคม ซึ่งสัมฤทธิผลดังกล่าวนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากปราศจากบทบาทของบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่า “ชนชั้นนำมาเลย์” ในการเข้ามาเป็นจุดร่วมและแกนนำ เพื่อขับเคลื่อนกลไกของขบวนการชาตินิยมโดยสันติวิธี จนกระทั่งถึงการได้มาซึ่งความเป็นเอกราชของดินแดนภูมิบุตร มลายา ด้วยกระบวนการสร้างและก่อให้เกิดบทบาทดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและอิทธิพลของบรรดาชนชั้นนำ ที่มีต่อชาวมาเลย์และการเมืองมลายาในขณะนั้นเป็นอย่างยิ่ง
ความเป็นชนชั้นนำมาเลย์ที่ในบทความชิ้นนี้ได้ให้คำนิยาม ไปถึงสุลต่านและบรรดาเชื้อพระวงศ์เชื้อสายมาเลย์ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับอำนาจทางการเมืองของมลายามาโดยตลอด ตั้งแต่การผสมผสานของศาสนาดั้งเดิม ศาสนาพราหมณ์ – พุทธ และศาสนาอิสลาม โดยศาสนาอิสลามที่เข้ามาสู่ มลายาเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 นั้น เป็นศาสนาอิสลามนิกายซูฟี ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเวทย์มนต์คาถา1 ฉะนั้นจึงไม่มีการบังคับให้ชาวพื้นเมืองเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมแบบเก่า ซึ่งขัดแย้งกับศาสนาอิสลาม โดยประเพณีเก่าๆ หลายอย่างก็ได้ผสมกลมกลืนกับศาสนาอิสลาม อาทิเช่น พิธีของฮินดูที่เกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกและพิธีสมรส ลัทธิการนับถือวิญญาณ ที่เกี่ยวข้องกับกรมัต เป็นต้น2 ประกอบกับศาสนาอิสลามที่เข้ามานั้น มีอุดมการณ์ในการเชื่อมโยงศาสนาเพื่อรับรองอำนาจของสุลต่านโดยระบุว่า สุลต่านนั้นคือ เงาของพระผู้เป็นเจ้าบนพื้นพิภพ (Shadow of God Upon Earth) อันเป็นการเสริมอำนาจของระบอบกษัตริย์ให้เข้มแข็งขึ้น3
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าบรรดาสุลต่านนั้นจะดูเสมือนว่า เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในดินแดนของพระองค์ แต่ความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะอำนาจของขุนนาง อาทิเช่น เบนดาฮารา หรือ อัครเสนาบดี ที่มีอิทธิพลอย่างมากในการบริหารปกครองดินแดน จนบางครั้งก็เกิดการท้าทายอำนาจของสุลต่าน เช่นกรณีของ ตุน มูตาฮีร์ เบนดาฮารา แห่งมะละกา (ค.ศ. 1500 – 1510) ที่ขยายอิทธิพลทางการเมือง และประกาศตนเป็นปรปักษ์กับสุลต่านแห่งมะละกา 4 หรือจะเป็นกรณีของลักษมัน (แม่ทัพเรือ) และชาห์บันดาร์ (เสนาบดีท่าเรือ) ที่มีอำนาจในการควบคุมเส้นทางเดินเรือ ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีฐานะมั่งคั่งและมีอิทธิพลเสมอมา โดยที่การส่งส่วยอันเป็นรายได้ของสุลต่านจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างสุลต่านกับขุนนาง ดังนั้นสถานะของสุลต่านจึงไม่เพียงพอ ในการขยายกลไกอำนาจรัฐให้เข้มแข็งทั้งทางการเมืองและการทหาร ดังนั้น สุลต่านจึงพยายามใช้ศาสนาเป็นเครื่องผดุงความชอบธรรมในการควบคุมทางสังคม โดยการเป็นผู้นำทางศาสนา เพื่อทำให้ฐานะทางการเมืองของตนมีความมั่นคง 5
ถึงแม้ว่าอำนาจทางการเมืองของสุลต่านนั้น ดูจะไม่มีความเข้มแข็งอย่างเบ็ดเสร็จ แต่การเป็นสัญลักษณ์แห่งรัฐและศาสนาอิสลาม ก็สร้างความเชื่อมโยงและสร้างความศรัทธาภักดีต่อสุลต่านแก่ประชาชน ทั้งนี้เป็นเพราะรากฐานของความภักดี หรือภักติมรรค ที่มีมาแต่สมัยพราหมณ์ฮินดู ผสมผสานกับความเชื่ออิสลามที่ว่า สุลต่านคือเงาของพระเจ้าบนพิภพ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวนั้นไม่เหมือนกับมุสลิมในโลกอาหรับ แต่เป็นลักษณะของยังดีเปอร์ตวน (Yong di Pertuan) แบบดั้งเดิมของมาเลย์ หรือที่เรียกว่า ยัม ตวน (Yam Tuan) โดยบทบาทของยัมตวนมีความหมายในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือ เดาลัต (Daulat) หมายถึงผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิแบบสิทธิราชย์ และกัวสา (Kausa) หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดฝ่ายศาสนา 6 อาจกล่าวได้ว่าการยึดโยงกับความศักดิ์สิทธิทางศาสนาเช่นนี้ ได้สร้างให้ชนชั้นนำหรือบรรดาสุลต่าน เชื้อพระวงศ์ อยู่ในสถานะที่ชาวมาเลย์ทั่วไปให้เกียรติและเคารพนับถือสืบมา
จวบจนถึงการเข้ามาปกครองมลายาของอังกฤษ อังกฤษก็ได้มุ่งที่จะรักษาขนบธรรมเนียม และระบบการปกครองแบบจารีตเอาไว้ โดยไม่เข้าไปแตะต้องหรือล้มเลิกสถาบันสุลต่าน เฉกเช่นที่อังกฤษได้กระทำในพม่า กล่าวได้ว่าการที่อังกฤษครอบงำด้านการบริหาร เศรษฐกิจ แล้วยกเว้นศาสนา และประเพณีเอาไว้ ทำให้สุลต่านไม่เพียงแต่ยังคงความสำคัญแบบดั้งเดิมเท่านั้น7 แต่รวมถึงระบบการปกครองของอังกฤษนั้น ยังให้การรับรองถึงสถานะของสุลต่าน ในฐานะความเป็นตัวแทนของชาวมาเลย์ ในด้านของวัฒนธรรมและศาสนา หรืออาจกล่าวได้ว่า สุลต่านคือศูนย์รวมใจของชาวมาเลย์ก็ว่าได้ ถ้าอังกฤษล้มเลิกสถาบันสุลต่านลง ก็มีโอกาสที่จะได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชาวมาเลย์ภายใต้การนำของสุลต่าน ขณะเดียวกันการร่วมมือระหว่างบรรดาสุลต่านกับอังกฤษ ด้วยการเจรจาหรือลงนามทำสนธิสัญญาระหว่างกัน ก็เท่ากับเป็นการรับรองสถานะของสุลต่านในฐานะตัวแทนชาวมาเลย์ 8 ลักษณะเช่นนี้จึงเสมือนกับการทำให้สถาบันสุลต่านมีความมั่นคงยิ่งขึ้นจากเดิม ที่ต้องคอยถ่วงดุลอำนาจกับบรรดาขุนนาง ประกอบกับในปี ค.ศ. 1909 อังกฤษได้ก่อตั้งวิทยาลัยมาเลย์ (Malay College) ซึ่งลอกแบบมาจากโรงเรียนกินนอนของอังกฤษ โดยเปิดรับเฉพาะแต่ชาวมาเลย์ชั้นสูง รวมทั้งลูกหลานในราชสกุล โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะฝึกชนชั้นนำเข้ารับราชการในหน่วยงานของอังกฤษในมลายา 9
นอกจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างชนชั้นนำหรือเชื้อพระวงศ์มาเลย์กับอังกฤษ ที่ยอมรับว่าสุลต่าน คือตัวแทนของชาวมาเลย์ การเปิดโอกาสให้ชนชั้นนำได้รับการศึกษาแบบอังกฤษ และรับราชการกับอังกฤษ ทำให้คนกลุ่มนี้มีศักยภาพ และมีความรู้ ความเข้าใจ ในการเมืองสมัยใหม่ กว่าชาวมาเลย์กลุ่มอื่นที่มีการศึกษาแบบดั้งเดิม และกลุ่มชนชั้นนำนี้ได้ให้ความร่วมมือกับอังกฤษเสมอมา โดยเชื่อว่าหลักความร่วมมือกันนี้ จะสามารถนำมลายาสู่ความเป็นเอกราชได้โดยสันติวิธี 10 ซึ่งเมื่อญี่ปุ่นเข้ามายึดครองมลายาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันสุลต่าน ถึงแม้ว่าอำนาจทางการเมืองของผู้ปกครองจะมีจำกัด แต่ชาวมาเลย์ทุกคนก็ถวายพระเกียรติ และความจงรักภักดีต่อพระองค์ ญี่ปุ่นจึงยอมรับสถาบันสุลต่าน และได้มีคำมั่นสัญญาว่าจะถวายบำนาญแก่สุลต่าน ประกอบกับได้รับประกันทรัพย์สินของพระองค์อีกด้วย นอกจากนั้นอำนาจสูงสุดของบรรดาสุลต่านในเรื่องเกี่ยวกับ ธรรมเนียมประเพณีของชาวมาเลย์ และศาสนาอิสลาม ก็ได้รับการรับรองอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1944 โดยการประชุมระดับชาติของคณะกรรมการศาสนาแห่งมลายาที่มีขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เพื่อเกียรติภูมิทางศาสนาแก่สุลต่าน 11 ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การเข้ามามีอิทธิพลในมลายาของทั้งอังกฤษ และญี่ปุ่น นอกจากที่จะดำรงสถานะของสุลต่านและบรรดาชนชั้นนำมาเลย์เอาไว้แล้ว ก็ยังมีแนวทางที่จะส่งเสริมสถานภาพของกลุ่มบุคคลดังกล่าว ให้มีเสถียรภาพและความมั่นคงยิ่งขึ้นก็ว่าได้
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงแล้ว กระแสของชาตินิยมเพื่อเอกราชได้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในดินแดนมลายานั้นกลับไม่มีขบวนการชาตินิยม ที่พัฒนาอย่างมีศักยภาพเหมือนกับประเทศอื่น ทั้งนี้ก็เป็นเพราะอังกฤษได้ให้ชาวมาเลย์มีส่วนร่วมในการปกครอง ส่วนทางด้านศาสนาอังกฤษก็ได้ให้อิสระทางด้านการศาสนา และการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมได้เต็มที่ รวมถึงการรักษาสิทธิประโยชน์ของชาวมาเลย์ สร้างความเจริญให้มลายาทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ลักษณะการปกครองแบบประนีประนอมของอังกฤษดังกล่าว ทำให้ไม่เกิดความกดดันรุนแรงที่จะกระตุ้นกระแสชาตินิยมในมลายาให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นขบวนการชาตินิยมของ มลายาจึงเป็นไปในลักษณะ Evolution มิใช่ Revolution 12 ประกอบกับความรู้สึกที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมาเลย์ทั้งหมดทุกรัฐนั้นมิได้เกิดขึ้น ก็เป็นเพราะชาวมาเลย์มีความจงรักภักดีต่อรัฐของตน มากกว่าจะจงรักภักดีต่อมลายาโดยรวม13
แต่เมื่อแผนการสหภาพมลายา (Malayan Union) ซึ่งฝ่ายวางแผนของกระทรวงอาณานิคมได้ตระเตรียมกันที่อังกฤษ โดยรัฐบาลพรรคแรงงานซึ่งมิได้รับการปรึกษาหารือกับบรรดาสุลต่าน ความจริงนั้นการปรึกษาหารือกับผู้ใดในมลายาจะกระทำมิได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการยึดครองของญี่ปุ่น ส่วนคำว่า “สหภาพมลายา” นั้นหมายถึง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีการเสนอขึ้นมา ซึ่งมีหลักการตรงข้ามกับแนวนโยบายของอังกฤษก่อนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีแนวโน้มเป็นไปในทางกระจายอำนาจ แต่สหภาพมลายานั้นคือการปรับเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิง เหตุเพราะ “สหภาพ” มิใช่เป็นสหพันธ์ จึงมีการรวมอำนาจการปกครองโดยเด็ดขาด14 โดยมีหลักการสำคัญดังนี้คือ 15
ก. รวมเอารัฐภายใต้สหพันธรัฐมลายา (FMS), รัฐนอกสหพันธรัฐมลายา (UMS) กับปีนังและมะละกา เข้ามาอยู่ในระบบการปกครองเดียวกันคือ สหภาพมลายา ( Malayan Union )
ข. ลดสถานะของบรรดาสุลต่านลงให้เป็นเพียงที่ปรึกษาของรัฐบาลกลาง ที่มีผู้ว่าการ สภานิติบัญญัติ สภาบริหารในการปกครองมลายา ประกอบกับสุลต่านต้องโอนอธิปไตยไปให้แก่กษัตริย์อังกฤษ
ค. พลเมืองทั้งหมดของสหภาพมลายา จะต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน รวมทั้งการยอมให้เข้ารับราชการพลเรือนในฝ่ายบริหาร ประกอบกับต้องขยายความเป็นพลเมืองมลายาทุกคน โดยปราศจากอคติเรื่องเชื้อชาติ และความเชื่อในศาสนา
จากหลักการดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีการลิดรอนสิทธิของทั้งชนชั้นนำและชนชั้นล่าง โดยชนชั้นนำสูญเสียสิทธิและอำนาจในการปกครอง ซึ่งสุลต่านแห่งรัฐนอกสหพันธรัฐมลายา (UMS) จะได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะสุลต่านใน UMS นั้น มีสิทธิในการปกครองบริหารอยู่ในมือของพระองค์แทบทั้งสิ้น แต่หากสหภาพมลายาเกิดขึ้น สิทธิและอำนาจดังกล่าวจะสูญสิ้นไปทั้งหมด ส่วนสุลต่านใน FMS ที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีอำนาจในการปกครองเหมือนกับสุลต่านใน UMS แต่หลักการของแผนการสหภาพ มลายานั้น ก็เป็นไปในลักษณะที่ “ปลดสุลต่านออกจากสิทธิในการเป็นองค์อธิปปัตย์ ที่อังกฤษและโลก (มลายู) ได้ให้การรับรองมาช้านานแล้ว” 16 ซึ่งเป็นคำพูดของสุลต่านแห่งหนึ่งในรัฐ FMS ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องเสียสิทธิความเป็นพลเมืองมลายา เสียสิทธิการเข้าทำงานในหน่วยงานราชการ เสียสิทธิพิเศษทางการศึกษาให้แก่ชาวจีนและชาวอินเดีย 17 ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า แผนการสหภาพมลายาเป็นปัจจัยตัวเร่งหรือชนวน ในการกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างชนทั้งสองระดับชั้น จนกระทั่งความร่วมมือดังกล่าว ได้กลายมาเป็นกระแสชาตินิยมมลายู ภายใต้การนำของชนชั้นนำมาเลย์ในที่สุด เหตุการณ์ที่เป็นไปลักษณะนี้ ต้องมองไปถึงขบวนการหรือลัทธิชาตินิยมกลุ่มอื่นในมลายา ที่ถือได้ว่ายังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการเคลื่อนไหว ประกอบกับยังขาดแนวร่วมทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง จนไม่สามารถนำชาวมาเลย์ในการต่อต้านจักรวรรดินิยมได้ ซึ่งกลุ่มดังกล่าวได้แก่
ก. กลุ่มที่ได้รับการศึกษาทางอิสลาม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มของผู้ที่ได้รับศึกษาจากมหาวิทยาลัยทางศาสนาอิสลาม เช่น มหาวิทยาลัยอัล อัชฮาร์ ในไคโร ซึ่งได้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรเคาม์ มูดา (Kaum Muda) 18 อันมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อจะสร้างและปฏิรูปศาสนาอิสลามบริสุทธ์ในมลายา ซึ่งองค์กรลักษณะนี้ก็ได้มีขึ้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 1948 ก็คือ Persatuan Ulama Sa- Malaya ที่ก่อตั้งโดยนักวิชาการทางศาสนาของมลายา องค์กรดังกล่าวก็ได้พัฒนาเป็นพรรคพันธมิตรอิสลามมลายู (Pan Malayan Islamic Party : PMIP) และพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (Parti Isalam Se- Malaysia : PAS) ในเวลาต่อมา 19
ข. กลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มนี้เป็นลักษณะของกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงฝ่ายซ้าย คือ เกซาตวนเมลายู (KMM) สหภาพแห่งเยาวชนมลายู (Union of Malay Youth) มีแนวทางที่ร่วมกับขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย โดยที่ผู้นำบางคนก็ได้เริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ก็คือ พรรคแห่งชาติมลายู (Malay Nationalist Party : MNP) นโยบายของกลุ่มนี้นอกจากมุ่งกอบกู้เอกราชแล้ว ยังต้องการรวมสิงคโปร์เข้ากับมลายาด้วย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา (MCP)20
เมื่อพิจารณาถึงแนวทางของกลุ่มชาตินิยมทั้งสองกลุ่มนั้น ต่างก็มีแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรม หรือจารีตประเพณีของชาวมาเลย์ กล่าวคือ กลุ่มที่ได้รับการศึกษาแบบอิสลาม มีจุดประสงค์ที่จะตั้งรัฐอิสลามบริสุทธิ์ขึ้นมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับศาสนาอิสลามทั่วไปในมลายา ที่เป็นลักษณะของการผสมผสานกัน ระหว่างอิสลามกับศาสนาความเชื่อดั้งเดิม จนกลายเป็นศาสนาอิสลามที่มีการยึดถือผีสางเทวดา และพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับแนวทางของศาสนาอิสลามบริสุทธิ์นั้น จะเป็นการลดทอนสถานะของสุลต่านลง ทั้งความเป็นตัวแทนทางศาสนา และความเคารพศรัทธาในความเป็น “เงาของพระเจ้าบนพื้นพิภพ” ทำให้ชาวมาเลย์ทั้งระดับบน และล่างไม่ให้การยอมรับ ในส่วนของกลุ่มหัวรุนแรง โดยที่กลุ่มนี้จะยึดอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เป็นหลัก มีเป้าหมายในการรวมกับอินโดนีเซียเพื่อที่จะเป็น Greater Malay 21 ด้วยการปฏิวัติ และใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะกระทบกระเทือนไปถึงศาสนาอิสลาม สถาบันสุลต่าน ประเพณี และวิถีชีวิตต่างๆ ที่ชาวมาเลย์ยึดถือกันมาอย่างยาวนาน ประกอบกับแนวทางดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลอังกฤษเกรงว่า จะเป็นการทำให้ชาวมาเลย์กลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย ซึ่งจะสร้างความปั่นป่วนให้แก่สังคมมลายา ดังนั้นเมื่อกลุ่มดังกล่าวเริ่มโจมตีและฆ่าเจ้าของสวนยางและเหมืองดีบุกมากขึ้น อังกฤษจึงต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน (Emergency Period) ทั่วประเทศในกลางปี ค.ศ. 1948 เพื่อที่จะใช้กองกำลังทหารปราบปรามคอมมิวนิสต์ได้เต็มที่ พร้อมกันนั้นก็ได้ประกาศห้ามกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้าย หรือกลุ่มหัวรุนแรงของมลายาดำเนินกิจกรรมทางการเมือง จากลักษณะเช่นนี้ทำให้กลุ่มชาตินิยมทั้งสองกลุ่มไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากชาวมาเลย์ทั่วไปเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหัวรุนแรงนั้น ได้ถูกแรงต้านอีกกระแสหนึ่งจากรัฐบาลอังกฤษกระหนาบซ้ำเข้าอีกด้วย

--------------------------------------------------------

เชิงอรรถ

1 ซี แมรี เทรินบูล, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน, แปลโดย ทองสุข เกตุโรจน์ (กรุงเทพฯ: กรมวิชาการ, 2540), หน้า 56
2 เอน.เจ.ไรอัน, การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์, แปลโดย ประกายทอง สิริสุข (กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2526), หน้า 20-21
3 บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย: A History of Malaysia, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำรา, 2549) หน้า 444
4 เอน.เจ.ไรอัน, เรื่องเดิม, หน้า 30-32
5บังอร ปิยะพันธุ์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2537), หน้า 139
6 เรื่องเดิม, หน้าเดิม
7 เรื่องเดิม, หน้า 143
8 Stanley S. Bedlington, Malaysia and Singapore The Building of New State (New York: Cornell University Press, 1978), p. 37
9 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 337
10 อุษณีย์ กรรณสูต, พื้นฐานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ: บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2516), หน้า 140
11 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 390
12 อุษณีย์ กรรณสูต, เรื่องเดิม, หน้า 139
13 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 409
14 เอน.เจ.ไรอัน, เรื่องเดิม, หน้า 234
15 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 444
16 เรื่องเดิม, หน้า 445
17 บังอร ปิยะพันธุ์ , เรื่องเดิม , หน้า 148 -150
18 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 334
19 ชัยโชค จุลศิริวงศ์, พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 346 - 347
20 เรื่องเดิม, หน้า 330
21 บังอร ปิยะพันธุ์, เรื่องเดิม, หน้า 195
22 ชัยโชค จุลศิริวงศ์, เรื่องเดิม, หน้า 330
Keywords : การเมืองมาเลเซีย, ชนชั้นนำ, ขบวนการชาตินิยม, อิสลาม, วทัญญู ใจบริสุทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น: