วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

บทบาทชนชั้นนำมาเลย์กับการได้รับเอกราชของมลายา (2)
เมื่อกลุ่มที่ได้รับการศึกษาตามแนวทางอิสลาม และกลุ่มหัวรุนแรง ไม่สามารถจูงใจชาวมาเลย์ได้ ประกอบกับลัทธิชาตินิยมของมลายาเองก็พัฒนาไปได้ช้า ทั้งนี้เป็นเพราะก่อนที่จะเกิดแผนการสหภาพมลายาขึ้น อังกฤษก็ปกครองมลายาโดยมิได้กดขี่และข่มเหง อีกทั้งชาวมาเลย์เองนั้นต่างก็มีความจงรักภักดีต่อรัฐของตน มากกว่าจะจงรักภักดีต่อมลายาโดยรวม หรืออาจกล่าวได้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้มีพันธะผูกพันกับรัฐบาลกลางหรือกับองค์การทางศาสนา เนื่องจากศาสนาอิสลามไม่มีนักบวช ดังนั้นความจงรักภักดีต่อสุลต่าน และศาสนาอิสลามที่เป็นลักษณะเด่นของชาวมาเลย์ ได้สร้างสถาบันสุลต่านให้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ และจุดรวมของลัทธิชาตินิยมมลายา1 โดยที่บรรดาสุลต่านต่างตั้งใจที่จะรับบทบาทผู้นำในการคัดค้านสหภาพมลายา2 หรืออาจจะกล่าวได้ว่าลัทธิชาตินิยมภายใต้การนำของบรรดาชนชั้นนำ ได้รวมชาวมาเลย์ทั้งปวงเข้าไว้ในการต่อต้านแผนการจัดตั้งสหภาพมลายา เนื่องมาจากประชาชนมาเลย์ต่างเชื่อมั่นและศรัทธาต่อบรรดาชนชั้นนำ รวมถึงการที่เล็งเห็นว่าแนวทางชาตินิยมภายใต้การนำของบรรดาชนชั้นนำหรือสุลต่านนั้น คือแนวทางสอดคล้องกับศาสนาอิสลาม และประเพณีวัฒนธรรมแบบมลายา
นอกจากนี้การที่รัฐบาลอังกฤษได้สนับสนุนให้กลุ่มชนชั้นนำ มีการประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้รับการหล่อหลอมให้มีความสามัคคีกัน3 จนกลุ่มชนชั้นนำหรือบรรดาสุลต่านและเชื้อพระวงศ์มาเลย์ได้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมต่างๆ ในช่วงปี 1930s และได้พัฒนามาเป็น Pan Malayan Congress ซึ่งมี ดาโต๊ะ ออน บิน จาฟาร์ บุตรบุญธรรมของสุลต่านยะโฮร์ และมุขมนตรี (Chief Minister) แห่งยะโฮร์ ได้รับเกียรติให้เป็นประธานของ Pan Malayan Congress โดยได้จัดให้มีการประชุมวาระเร่งด่วน (Emergency meeting) เพื่อคว่ำบาตรแผนการสหภาพมลายา ทำให้ไม่มีสุลต่านองค์ใดเลยที่เข้าร่วมกับพิธีก่อตั้งสหภาพมลายาของอังกฤษ อีกทั้งยังมีการเดินขบวนของประชาชนมาเลย์เพื่อแสดงให้เห็นถึงการต่อต้านแผนการสหภาพมลายา โดยการคาดผ้าขาวบนหมวก Songkok สีดำ อันเป็นนัยสัญลักษณ์แห่งสิทธิโดยกำเนิดและเสรีภาพ การคว่ำบาตรได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา 4 จนในเดือนพฤษภาคมจึงได้มีการก่อตั้งพรรค Pertubuhan KebangSaan Melayu Bersatu (United Malay National Organization : UMNO) ขึ้น โดยมี ดาโต๊ะ ออน เป็นประธานคนแรก5 ซึ่งพรรค UMNO นั้นเรียกได้ว่าเป็นขบวนการชาตินิยมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของภูมิบุตรมาเลย์ โดยมีรากฐานจากการสนับสนุนและมีส่วนร่วม ของบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ในการดำเนินการ อาจกล่าวได้ว่าขบวนการชาตินิยมมาเลย์เกิดขึ้นโดยไม่ยากลำบากอะไร เพราะปกติแล้วชาวมาเลย์ทั่วไปต่างก็มีความจงรักภักดีต่อสุลต่านของพวกเขาเอง 6 ทำให้ลัทธิชาตินิยมมาเลย์เติบโตขึ้นแทบจะในช่วงเวลาเพียงชั่วข้ามคืน อัมโนได้ตั้งสาขาขึ้นอย่างรวดเร็ว และได้จัดให้มีการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ 7 ซึ่งการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดคือ การชุมนุมที่กัวลากังซาร์ ซึ่งเป็นการชุมนุมที่บรรดาสุลต่านเข้าร่วมด้วย8 โดยที่การต่อสู้ของชาวมาเลย์ดังกล่าวก็มิได้ดำเนินไปอย่างโดดเดี่ยว เพราะบรรดาข้าราชการอังกฤษระดับสูงที่พ้นจากอำนาจแล้ว อาทิ เซอร์ เซอซิล คลิเมนติ, สเวต เดนแฮม ยอร์ช แมกซ์เวลส์, อินสเต็ดท์ และกิลมาร์ค ต่างก็สนับสนุนชาวมาเลย์ ในการต่อต้านแผนการสหภาพมลายา 9 ที่เป็นเช่นนี้ก็น่าจะมีสาเหตุมาจาก ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกลุ่มอดีตข้าราชการอังกฤษ กับบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ ที่เคยทำงานร่วมกันและเกื้อกูลกันมาก่อนหน้านี้
ในส่วนของชุมชนชาวจีนและอินเดีย อาจมองเห็นว่าสหภาพมลายาจะทำประโยชน์บางประการ แต่พวกเขาก็ไม่ปล่อยให้มีการรับรองโดยปราศจากเงื่อนไข เมื่อชาวอินเดียได้ก่อตั้งพรรคชาตินิยมอินเดียมลายา (Malayan Indian Congress : MIC) ขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1946 ซึ่งผู้นำของ MIC ก็สนับสนุนฐานะของชาวมาเลย์ตั้งแต่แรก ส่วนชาวจีนก็ได้รับรองแนวทางทั่วไปของข้อเสนอ แต่ก็หวาดกลัวว่าพวกเขาจะสูญเสียสัญชาติจีน ถ้าพวกเขายอมรับความเป็นพลเมืองมลายา นอกจากนี้กลุ่มฝ่ายซ้ายในทุกชาติพันธุ์ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์ เพราะข้อเสนอเรื่องสหภาพมลายามิได้แสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมการใด ๆ เป็นพิเศษสำหรับการเลือกตั้งเลย อีกทั้งยังมีความสงสัยว่าแม้แต่การสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียงกันและอย่างเปิดเผย ก็ไม่สามารถจะต้านทานกำลังการคัดค้านของชาวมาเลย์ได้ 10 เมื่อไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองจากชาวจีนหรือชาวอินเดีย และได้รับความรู้สึกในการต่อต้านอย่างรุนแรง และความวิตกกังวลจากชาวมาเลย์ทุกระดับสังคม ซึ่งเซอร์ เอ็ดเวริ์ด เจนท์ ผู้ว่าการสหภาพมลายา ก็เชื่อมั่นว่าแผนการจัดตั้งสหภาพมลายาจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน 11 ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษต้องทบทวนถึงแนวทางของแผนการดังกล่าวเสียใหม่
ในวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 การเจรจาระหว่างผู้ว่าการทั่วไป มัลคอล์ม แมคโดนัล และผู้ว่าการ เซอร์ เอ็ดเวริด เจนท์ กับบรรดาสุลต่าน และตัวแทนจากพรรคอัมโน ซึ่งกระทรวงอาณานิคมก็ได้ตกลงที่จะระงับเรื่องความเป็นพลเมืองมลายา และปรับเปลี่ยนแผนการสหภาพมลายาอันเป็นสนธิสัญญาที่ริเริ่มโดย ฮาร์โรล แมคไมเคิล พร้อมทั้ง เจนท์ ได้ประกาศถึงรูปแบบของการเจรจาหารือ ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจำนวน 12 คน ที่รู้จักกันในนามของคณะกรรมการทำงาน (Working Committee) ซึ่งประกอบขึ้นด้วย เจ้าหน้าที่อังกฤษ 6 คน สุลต่าน 4 พระองค์ และตัวแทนจากพรรคอัมโน 2 คน 12 เพื่อหาข้อสรุปในการก้าวไปสู่ความเป็นสหพันธ์มลายา
ในระหว่างนั้นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับบรรดาชั้นนำมาเลย์ ที่ต่างก็สนับสนุนการรักษาแบบแผนการเมืองแบบจารีตเอาไว้ ก็ได้กระตุ้นให้กลุ่มการเมืองอื่นที่มีความเห็นแตกต่างไป ได้เข้ามามีบทบาททางการเมือง โดยเฉพาะพรรคชาตินิยมมลายา (Malay Nationalist Party : MNP) ที่มีเป้าหมายในการรวบรวมมลายาเข้ากับอินโดนีเซียที่เป็นเอกราช นอกจากนั้นพรรค MNP ยังได้โจมตีพรรคอัมโนว่าเป็นพรรคการเมืองเฉพาะของชนชั้นนำเท่านั้น ซึ่งกลุ่มฝ่ายค้านได้ก่อตั้งคณะกรรมการร่วมแพน – มลายัน (Pan – Malayan Council of Joint Action) โดยนำเอาพรรคสหภาพประชาธิปไตย มลายัน (Malayan Democratic Union : MDU) สมาคมจีนอังกฤษแห่งสเตรทส์เซ็ทเทิลเมนท์ สหภาพการค้าแห่งมลายา เข้ามารวมด้วย โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา (MCP) ให้การสนับสนุนอยู่ และคณะกรรมการปฏิบัติการร่วมแพน-มลายัน ยังได้สร้างความสัมพันธ์กับแนวร่วมสหประชาชน (People’s United Front : Putera) ซึ่งพรรค MNP ให้การสนับสนุน หลังจากนั้นทั้งสองกลุ่มก็ร่วมตัวกันภายใต้ชื่อ AMCJA-PUTERA โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวได้ยกร่างข้อเสนอรัฐธรรมนูญ ที่เรียกร้องให้สหพันธ์ มลายารวมเอาสิงคโปร์เข้าด้วย โดยมีคณะกรรมการฝ่ายบริหารรับผิดชอบต่อสภานิติบัญญัติ ที่ได้รับเลือกจากทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติใดที่มีภูมิลำเนาอยู่ในมลายา แต่รัฐบาลอังกฤษก็ไม่ยอมรับว่า AMCJA – PUTERA สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนความคิดเห็นของชาวมลายูทั้งหมด13 ดังนั้น อังกฤษจึงปฏิเสธแนวทางที่นำเสนอโดย AMCJA – PUTERA อย่างสิ้นเชิง และได้ดำเนินการเจรจาในประเด็นของสหพันธมลายากับบรรดาชนชั้นนำอย่างต่อเนื่อง
ในการเจรจาระหว่างอังกฤษกับบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ ที่สุลต่านได้ริเริ่มนำเสนอความเป็นสหพันธมลายา การทำข้อตกลงใหม่ก็ดำเนินไปอย่างเต็มที่ ในการประชุมติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างสุลต่าน เจ้าหน้าที่อังกฤษ และผู้นำของพรรคอัมโน หลังจากเจรจาอภิปรายแล้วจึงตกลงกันว่าสหพันธ์จะต้องส่งเสริมอธิปไตยของสุลต่าน ในความเป็นเอกเทศของรัฐทั้งหลาย และสิทธิพิเศษของชาวมาเลย์ มีรัฐบาลกลางแห่งเดียวที่เข้มแข็ง ซึ่งจะได้รับการสถาปนาขึ้นพร้อมกับอำนาจนิติบัญญัติ ในส่วนของการเป็นพลเมือง จะให้มีการควบคุมกันอย่างเข้มงวด โดยที่บังคับให้คนต่างด้าวต้องพักอาศัยในมลายาไม่น้อยกว่า 15 ใน 25 ปี และมีความสามารถในการใช้ภาษามาเลย์ หรืออังกฤษได้บ้าง ในด้านของตำแหน่งข้าหลวงใหญ่ (high commissioner) นั้น ต้องได้รับการแต่งตั้งโดยอำนาจของสุลต่าน และคำว่า “มลายัน” ไม่เป็นที่รับรองในเอกสารของสหพันธ์อย่างเป็นทางการ ขณะที่ความเป็นมลายู (Melayu) ได้รับการสงวนไว้สำหรับปัจเจกบุคคล ซึ่งจะต้องเป็นผู้พูดภาษามาเลย์เป็นปกติวิสัย นับถือศาสนาอิสลาม และปฏิบัติตามธรรมเนียมมาเลย์14 ส่วนลักษณะของสิงคโปร์ก็ยังคงสถานะของความเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ที่แยกตัวออกไปจากสหพันธรัฐมลายา นอกจากนี้สาระและแนวทางหลักที่สำคัญของการเป็นสหพันธ์ ยังมีเป้าหมายในการไปสู่การปกครองตนเองของมลายา โดยการขยายสภานิติบัญญัติให้ชาว มลายา มีส่วนร่วมในสภาพมากขึ้น15 ทั้งนี้เมื่อคณะกรรมการทำงานได้ข้อสรุปของการเจรจาระหว่างกันในที่สุด แนวทางของสหภาพมลายาก็ต้องถูกยกเลิกไป และประกาศใช้รูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐมลายาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 194816
จากบทบาทของบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ ที่ยึดหลักในการเจรจาแบบประนีประนอม ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำมาเลย์กับรัฐบาลอังกฤษ ส่งผลให้การรักษาสิทธิของภูมิบุตรมาเลย์และความเป็นองค์อธิปัตย์ของสุลต่าน ยังดำรงคงอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางของสหภาพมลายา ที่มุ่งเน้นในความเท่าเทียมของทุกเชื้อชาติมาสู่การสนับสนุนชาวมาเลย์ (Promalay) อีกครั้งของรัฐบาลอังกฤษ เมื่อมองถึงกลุ่มการเมืองอื่นที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการหาข้อสรุปและแนวทางของสหพันธรัฐมลายา นั่นคือ กลุ่ม AMCJA-PUTERA ซึ่งได้ถูกทางอังกฤษปฏิเสธการเจรจาร่วม ทั้งนี้ก็น่าจะเกิดมาจากปัจจัย 4 ประการด้วยกัน กล่าวคือ
ก. รัฐบาลอังกฤษมีความสัมพันธ์อันดีกับบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ และทั้งสองฝ่ายก็ดำเนินการเจรจาระหว่างกันมาช้านาน ประกอบกับแนวทางอนุรักษ์นิยมของกลุ่มชนชั้นนำที่เน้นการประนีประนอมนั้น ก็สอดคล้องกับแนวทางของอังกฤษในมลายา
ข. ถึงแม้ว่า AMCJA-PUTERA จะอ้างว่า กลุ่มของตนสามารถสร้างแนวร่วมได้จากทุกเชื้อชาติ ตามที่อังกฤษคาดหวังไว้ในแผนการสหภาพมลายา แต่หากพิจารณาถึงจุดยืนของกลุ่มชาวจีนและชาวอินเดียแล้ว ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังจงรักภักดีต่อแผ่นดินแม่มากกว่ามลายา
ค. บรรดาชนชั้นนำมาเลย์ เป็นกลุ่มบุคคลที่สามารถรวมชาวมาเลย์ทั้งปวง ให้รวมตัวกันในลักษณะแบบขบวนการชาตินิยมขึ้นมาได้ และสร้างความตื่นตัวทางการเมืองไปทั่วทั้งดินแดนมลายา ประกอบกับชาวมาเลย์ คือภูมิบุตรที่ย่อมจะจงรักภักดีต่อมาตุภูมิ
ง. การรวมตัวกันเป็น AMCJA-PUTERA คือการรวมตัวของกลุ่มหรือพรรคการเมือง ที่เป็นขั้วตรงข้ามกับพรรคอัมโนที่เป็นพรรคของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นพรรค MDU พรรค MNP และที่สำคัญ AMCJA-PUTERA ยังมีพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายาเข้าร่วมด้วย ซึ่งความหวาดระแวงของอังกฤษต่อกลุ่มอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ ก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อังกฤษไม่ต้องการเจรจากับ AMCJA-PUTERA
หลังจากที่ AMCJA-PUTERA ประสบความล้มเหลวลง การไม่ยอมรับของรัฐบาลอังกฤษ ทำให้การสนับสนุนทั้งจากหอการค้าจีน และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายาได้ยุติลง ส่งผลให้ AMCJA-PUTERA ต้องยุติบทบาทลงเช่นกัน17 ดังนั้นบรรดาพรรคต่างๆ คือ พรรค MDU พรรค MNP ที่เคยรวมอยู่กับ AMCJA จึงได้หันไปร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา โดยได้ประณามแนวทางของอังกฤษว่าเป็นแผนการเอาใจชาวมาเลย์ ส่วนคอมมิวนิสต์นั้นต้องการเอกราชโดยถือหลักความเท่าเทียมของทุกเชื้อชาติเป็นพื้นฐาน แต่อังกฤษไม่ยอมทำตาม ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการต่อต้านอังกฤษอย่างรุนแรงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ด้วยการก่อการร้าย และก่อจลาจลเพื่อยึดครองดินแดนมลายา โดยกำหนดว่าวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1948 เป็นวันสถาปนารัฐคอมมิวนิสต์มาเลย์ จนทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน (Emergency Period) ทั่วประเทศ เพื่อที่จะใช้กองกำลังทหารปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างเต็มที่ 18 ซึ่งรวมไปถึงพรรคแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา ไม่ว่าจะเป็นพรรค MNP และพรรค MDU ทำให้พรรคการเมืองทั้งสองต้องยุติบทบาททางการเมืองลง
ด้วยบทบาทของพรรคอัมโนในการต่อต้านแผนการสหภาพจนเป็นผลสำเร็จ ทำให้พรรคที่สนับสนุนโดยบรรดาชนชั้นนำมาเลย์พรรคนี้ ได้กลายมาเป็นตัวแทนของชาวมาเลย์อย่างเต็มภาคภูมิ นับจากนั้นเป็นต้นมาพรรคอัมโนก็ก้าวไปสู่เป้าหมายอันสูงสุดนั่นคือ ความเป็นเอกราชของมลายา ซึ่งแนวทางในการได้รับเอกราชของมลายาส่วนหนึ่ง คือการเสนอตัวให้กับประชาชนชาวมลายายอมรับ โดยผ่านทางพรรคการเมือง และกระบวนการทางการเมืองสมัยใหม่ อีกส่วนหนึ่งก็คือ การยอมรับของรัฐบาลอังกฤษว่า มลายาจะสามารถปกครองตนเองได้หรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าอังกฤษเองก็มีบทบาทที่สำคัญ ต่อการส่งเสริมให้สหพันธรัฐมลายาได้รับเอกราช ตามนโยบายที่ทางลอนดอนได้มีการวางเป้าหมายที่จะพัฒนามลายาไปสู่จุดหมายนั้น ตั้งแต่การก่อตั้งสหพันธรัฐเมื่อปี ค.ศ. 1948 แต่ด้วยปัญหาคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรก จึงทำให้ต้องแก้ปัญหาอันกระทบต่อความมั่นคงของประเทศเสียก่อน 19

--------------------------------------------------------------------

เชิงอรรถ

1 ซี แมรี เทรินบูล, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน, แปลโดย ทองสุข เกตุโรจน์ (กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2540), หน้า 409
2 บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย : A History of Malaysia, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำรา, 2549), หน้า 445
3 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 409
4 Gordon P. Means, Malaysian Politics, (London : University of London Press, 1970), p.99
5 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 446
6 Gordon P. Means, op. cit., p.21
7 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 410-411
8 เอน.เจ.ไรอัน, การสร้างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์, แปลโดย ประกายทอง สิริสุข (กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2526), หน้า 237
9 Stanley S. Bedlington, op. cit,. P.71
10 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 447
11 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 411
12 Gordon P. Means, op. cit., p.55
13 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 412-413
14 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 447
15 Gordon P. Means, op. cit., p.57-58
16 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 447
17 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 417
18 บังอร ปิยะพันธุ์, ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2537), หน้า 231
19 ชัยโชค จุลศิริวงศ์, พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 333
Keywords : การเมืองมาเลเซีย, ชนชั้นนำ, ขบวนการชาตินิยม, อิสลาม, วทัญญู ใจบริสุทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น: