วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

บทบาทชนชั้นนำมาเลย์กับการได้รับเอกราชของมลายา(3)

บทบาทชนชั้นนำมาเลย์กับการได้รับเอกราชของมลายา(3)
ต่อมาในปี ค.ศ. 1950 – 1952 อังกฤษได้ส่งเสริมให้มลายามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อที่จะให้ชาวมาเลย์ได้เรียนรู้การเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาดำเนินการบริหารระดับท้องถิ่นของตน แต่ในระดับรัฐ หรือระดับสหพันธรัฐนั้น อังกฤษยังคงสงวนเอาไว้ โดยอ้างว่าหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งระดับชาติในทันที ประชาชนจะพากันเรียกร้องการปกครองตนเองในฉับพลัน ซึ่งจะทำให้เสียรูปแบบนโยบายของอังกฤษ ที่ต้องพัฒนาการเมืองมลายาเป็นลำดับขั้นตอน คือให้มีการปูรากฐานที่มั่นคงเสียก่อน แล้วจึงจะไปดำเนินการปกครองตนเองเป็นอิสระ 1 เมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นได้ว่ารัฐบาลอังกฤษนั้น มีจุดประสงค์ที่แน่นอนในการที่จะให้เอกราชแก่มลายา หากแต่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น มีการก่อการร้ายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา ความไม่มีเสถียรภาพดังกล่าว จึงเป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้อังกฤษไม่สามารถให้มลายาปกครองตนเองได้ นอกจากนี้ปัญหาพหุสังคมก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่อังกฤษเห็นว่า มลายานั้นยังขาดความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ เช่นนี้หากอังกฤษรีบเร่งให้เอกราชแก่มลายา ความเป็นสังคมพหุพันธ์ที่ขาดการร่วมมือระหว่างกัน ย่อมเกิดปัญหาความขัดแย้งเมื่อมลายาได้ปกครองตนเอง ซึ่งเงื่อนไขหรือความกังวลดังกล่าวของรัฐบาลอังกฤษ ก็เหมือนกับความกังวลของอังกฤษที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจากการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 อันปรากฏในหลักการของแผนการสหภาพมลายา
ในการประชุมสภานิติบัญญัติของสหพันธ์ครั้งแรก ดาโต๊ะ ออน บิน จาฟาร์ ประธานของพรรคอัมโน ก็ได้เรียกร้องให้มี “ความสำนึกของความเป็นสมาชิกในชาติมลายาที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งจะก้าวไปสู่ข้อยุติ และการยอมรับความเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเอง” ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธรัฐมลายา ดาโต๊ะ ออนน์ ต้องการให้เชื้อชาติต่างๆ รักใคร่กลมเกลียวกัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิใช่ชาวมาเลย์เข้ามาเป็นสมาชิกของพรรคอัมโนได้ 2 จากแนวทางเช่นนี้ ดาโต๊ะ ออนน์ จึงพยายามที่จะชักจูงให้บรรดาสุลต่าน และพรรคอัมโน คล้อยตามความเห็นของเขา แต่ ดาโต๊ะ ออนน์ ก็พบกับความยุ่งยากที่จะชักจูงกลุ่มคนดังกล่าวให้ยอมรับ ดังนั้นเมื่อประเด็นเรื่องการยอมรับทุกเชื้อชาติได้เข้าสู่ที่ประชุมพรรคอัมโน ด้วยความที่เชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้พรรคอัมโนสามารถชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น และเป็นผู้นำเพื่อเอกราชของมลายาได้ ซึ่งผลของมติที่ประชุมพรรค อัมโน ก็คือไม่ยอมรับแนวทางของดาโต๊ะ ออน์ บิน จาฟาร์ ทั้งนี้เพราะ การคัดค้านจากบรรดาสุลต่านและชนชั้นนำมาเลย์ ประกอบกับแนวทางดังกล่าว เสมือนกับการละทิ้งสิทธิพิเศษของภูมิบุตรมาเลย์ 3 หลังจากความพ่ายแพ้ในมติของพรรค ดาโต๊ะ ออนน์ บิน จาฟาร์ จึงลาออกจากพรรคอัมโน และก่อตั้งพรรคเอกราชมลายา (Independenceof Malaya Party : IMP) ตามแนวทางไม่เน้นลักษณะเฉพาะทางเชื้อชาติ ในปี พ.ศ. 1951 4
การแยกตัวออกไปของดาโต๊ะ ออนน์ บิน จาฟาร์ นั้น มีสมาชิกจำนวนเล็กน้อยที่ออกจากพรรคอัมโนไปเพื่อร่วมกับพรรค IMP 5 โดยที่สมาชิกส่วนใหญ่ที่เป็นชนชั้นนำมาเลย์ และการสนับสนุนจากบรรดาสุลต่านนั้นยังคงอยู่ จึงทำให้พรรคอัมโนยังคงสามารถยึดโยง และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างพรรค กับประชาชนเชื้อสายมาเลย์อยู่ได้อย่างมั่นคง ในขณะที่พรรค IMP นั้น ไม่สามารถที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนระดับรากหญ้าได้เลย6 ซึ่งพรรคอัมโนเองก็ได้สรรหาประธานของพรรคคนใหม่ นั่นคือ ตนกู อับดุล ราห์มาน น้องชายของสุลต่านเคดาห์องค์ปัจจุบัน (ค.ศ. 1954)7 ซึ่งงานแรกของประธานคนใหม่ก็คือ การสร้างแนวร่วมหรือพันธมิตรระหว่างเชื้อชาติ เพื่อเป้าหมายในการสู่เอกราช เพื่อให้รัฐบาลอังกฤษได้ยอมรับ โดยเบื้องต้นนั้นพรรคอัมโนได้ดำเนินการรวมเป็นพันธมิตรกับพรรคสมาคมจีนมาเลเซีย (Malaysian Chinese Association : MCA) ที่มี ตัน เชง ล็อก เป็นประธาน โดยมีสมาชิกจากบรรดานักธุรกิจชาวจีนที่ร่ำรวย ประกอบกับพรรค MCA นั้นมีแนวทางที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา และมีลักษณะเป็นพรรคแบบอนุรักษ์นิยมประนีประนอม 8 จากการรวมกันเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคอัมโนกับพรรค MCA จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการรวมกันแบบต่างเอื้อผลประโยชน์ต่อกัน กล่าวคือ
ก. พรรคอัมโนต้องการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อชาติ เพื่อให้รัฐบาลอังกฤษยอมรับและ ไปสู่ความเป็นเอกราช
ข. พรรคอัมโนสร้างแนวร่วมกับพรรค MCA เพื่อต่อสู้กับพรรค IMP ที่รวมทุกเชื้อชาติเอาไว้
ค. พรรคอัมโน จะได้รับเงินทุนสนับสนุนจากพรรค MCA ที่เต็มไปด้วยนักธุรกิจที่มั่งคั่ง
ง. พรรค MCA จะได้ฐานเสียงสนับสนุนที่มั่นคงของพรรคอัมโน
นอกจากนี้พรรคการเมืองทั้งสองยังมีแนวทางของพรรคที่คล้ายคลึงกัน คือ การต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา และมีความประนีประนอม ทำให้พรรคทั้งสองสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่ยาก โดยที่บททดสอบแรกของพรรคพันธมิตร (Alliance Party) ก็คือ การเลือกตั้งเทศบาลนครกัวลาร์ลัมเปอร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1952 ซึ่งพรรคพันธมิตร ได้รับเลือกตั้ง 9 ที่นั่ง ในขณะที่พรรค IMP ได้รับเลือก 2 ที่นั่งจากทั้งหมด 12 ที่นั่ง หลังจากนั้น ระหว่างปลายปี ค.ศ. 1952 ถึง ค.ศ. 1954 พรรคพันธมิตร UMNO – MCA ก็ได้ประสบชัยชนะโดยได้รับเลือกตั้ง 226 ที่นั่ง จาก 268 ที่นั่งของเทศบาลนคร และสภาเขต9 หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นแล้ว ดาโต๊ะ ออนน์ ก็ได้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา คือ พรรคเนการา (Party Negara) 10 และจากชัยชนะที่ท่วมท้นของพรรคพันธมิตร (Alliance) หากจะวิเคราะห์ดูแล้ว ชัยชนะในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในช่วงปี ค.ศ. 1952 – 1954 น่าจะเกิดจากปัจจัย 3 ประการ ด้วยกัน ซึ่งได้แก่
ก. การสนับสนุนจากบรรดาสุลต่าน และชนชั้นนำมาเลย์ ที่ทั้งสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และเป็นสมาชิกภายในพรรค ทำให้ประชาชนเชื้อสายมาเลย์ยังนิยมในพรรคอัมโนอย่างมั่นคง
ข. ความรู้สึกของชาวมาเลย์ที่ให้การยอมรับว่าพรรคอัมโนคือ องค์กรที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของภูมิ บุตรมลายาอย่างแท้จริง
ค. พรรคพันธมิตร มีความเป็นตัวแทนทั้งชาวจีน และชาวมาเลย์ โดยใช้ยุทธศาสตร์ “แยกกันตีร่วมกันโต” ต่างจากพรรค IMP ที่รวมทุกเชื้อชาติเข้ามาไว้ ทำให้ทั้งชาวจีนและชาวมาเลย์ เล็งเห็นถึงจุดยืนที่ไม่แน่นอนของพรรค IMP ประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินของพรรค MCA ที่มีต่อพรรคพันธมิตร
หลังจากความตึงเครียดทางการเมืองค่อยผ่อนคลายลง เมื่อรัฐบาลอังกฤษเป็นฝ่ายได้เปรียบกองโจรคอมมิวนิสต์ ด้วยการส่งกองกำลังจำนวนมากของเครือจักรภพเข้ามา ประกอบกับการที่อังกฤษควบคุมสถานการณ์อย่างเข้มแข็ง และการที่เศรษฐกิจดีขึ้น ทำให้ขวัญและกำลังใจสูงขึ้นด้วย 11 ส่งผลให้ผู้นำของพรรคพันธมิตร ที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งสหพันธรัฐ ประสบความสำเร็จในการเจรจาตกลงกับอังกฤษ โดยพรรคพันธมิตรยังคงยืนกรานให้มีสมาชิก 52 คน ในจำนวน 58 คน จะต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอังกฤษก็ยอมรับและจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1955 12 จากแนวโน้มทางการเมืองที่เริ่มเปิดกว้างขึ้น เพราะประเด็นเรื่องความมั่นคงที่เกิดจากคอมมิวนิสต์เริ่มเบาบางลง ในส่วนของประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติ ที่รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งไว้เป็นเงื่อนไขในความเป็นเอกราชนั้น ทางพรรคพันธมิตรก็ได้ดึงพรรคสภาอินเดียมาเลเซีย (Malaysian Indian Council : MIC) เข้ามาเป็นหุ้นส่วนใหม่ของพรรคพันธมิตร ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงอัตราส่วนของประชากรตามเชื้อชาติต่างๆ ในมลายา คือ ชาวมาเลย์ 45% ชาวจีน 36% ชาวอินเดีย 9% และอื่นๆ 2%13 จะเห็นได้ว่า จำนวน 9 % ของชาวอินเดียนั้น มีผลทางด้านคะแนนเสียงสนับสนุนต่อพรรคพันธมิตรไม่มากนัก ประกอบกับ พรรค MIC ก็เป็นพรรคการเมืองเล็กๆ ที่ชาวอินเดียเองก็ไม่ให้ความสนใจเท่าไร ดังนั้นจะกล่าวได้ว่า การที่พรรคพันธมิตรได้รวมเอาพรรค MIC เข้ามานั้นก็เพื่อยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ของทุกเชื้อชาติ หรือแนวร่วมที่มาจากทุกเชื้อชาติ เพื่อให้รัฐบาลอังกฤษได้ยอมรับถึงความเป็นตัวแทนของสังคมพหุพันธุ์
การเลือกตั้งทั่วไปของมลายาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1955 มีพรรคที่สำคัญๆ เข้าร่วมลงสมัครรับเลือกตั้ง ได้แก่ พรรคพันธมิตร พรรคเนการา พรรค Pan-Malayan Islamic Party (PMIP) หรือ พรรค PAS ซึ่งระหว่างการรณรงค์หาเสียงนั้น ประเด็นที่พรรคพันธมิตรชูขึ้นมาก็คือ “การเลือกตั้งเพื่อเอกราช” และ “การปกครองที่เลวยังดีกว่าการปกครองที่ดีโดยคนต่างชาติ” 14 โดยคำประกาศการเลือกตั้งที่ใช้คำอย่างระมัดระวัง และรณรงค์ทางยุทธศาสตร์ที่มุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์อันเกี่ยวข้องกับเอกราชอย่างแท้จริง ดังนั้นพรรคพันธมิตรก็สามารถหันเหความสนใจไปจากปัญหาพหุสังคม และเป็นกลุ่มเดียวเท่านั้นที่เสนอตัวเป็นรัฐบาลด้วยชัยชนะอย่างท่วมท้น โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งพรรคแนวร่วมได้รับคะแนนเสียงร้อยละ 81 และได้ 51 ที่นั่งในสภา 15 จากความสำเร็จของพรรคพันธมิตร บนการเลือกตั้งที่ดูเหมือนเป็นการเลือกตั้งของทุกเชื้อชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อพิจารณาจากกฎหมายความเป็นพลเมืองแห่งสหพันธรัฐในเรื่องผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยแบ่งแต่ละเชื้อชาติ คือ ชาวอินเดียมีสิทธิลงคะแนนเสียงร้อยละ 4 ส่วนชาวจีนมีสิทธิร้อยละ 11.2 และชาวมาเลย์มีสิทธิถึงร้อยละ 84.2 ส่วนที่เหลือเป็นชนเชื้อสายอื่น16 เช่นนี้อาจจะกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งทั่วไปของมลายาในปี ค.ศ. 1955 นั้น ฐานคะแนนเสียงหลักก็ยังคงเป็นพลเมืองเชื้อสายมาเลย์ หรือว่าชาวมาเลย์ยังเป็นผู้กำหนดทิศทางทางการเมืองของมลายานั่นเอง ซึ่งชัยชนะของพรรคพันธมิตรน่าจะมาจากองค์ประกอบดังนี้
ก. ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนถึง 84.2% เป็นชาวมาเลย์ ซึ่งพรรคอัมโนที่เป็นเสมือนตัวแทนของบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ ยังคงครองความศรัทธาจากมหาชนเชื้อสายมาเลย์เสมอมา

ข. การชูนโยบายเพื่อเอกราช คือยุทธศาสตร์ที่แน่นอน พร้อมทั้งการชูความเป็นเอกราชนั้น คือการเลี่ยงในการหาเสียงที่จะสนับสนุนเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่ง ยังผลให้พรรคพันธมิตรได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวาง

ค. การสนับสนุนทางการเงิน หรือเงินทุนอุดหนุนจากพรรค MCA ที่ถือว่าเป็นแหล่งทุนที่สำคัญของพรรคพันธมิตรตั้งแต่การเลือกตั้งในปี ค.ศ. 1952 เป็นต้นมา
จากสถานการณ์ทางการเมืองดังกล่าว พรรคแนวร่วมแห่งชาติที่นำโดยพรรคอัมโนตัวแทนของชนชั้นนำมาเลย์ ได้รับการยอมรับจากประชาชนมลายาว่า เป็นตัวแทนของชาวมลายาทั้งปวง ภายใต้วิถีทางการเมืองสมัยใหม่ โดยมี ตนกู อับดุลห์ ราห์มาน เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของมลายา ประกอบกับการที่พรรคพันธมิตรสามารถรวมเอาพรรคอัมโน พรรค MCA พรรค MIC เข้าไว้ด้วยกัน จนเสมือนกับว่า พรรคพันธมิตรเป็นตัวแทนของทุกเชื้อชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การสร้างแนวร่วมของทั้งสามพรรคนั้น มิได้เป็นตัวแทนของเชื้อชาติกลุ่มตนอย่างแท้จริง จนทำให้เกิดการต่อต้านและการรักษาผลประโยชน์ของชาติพันธุ์ตลอดมา ผลสุดท้ายจึงได้เกิดวิกฤตการณ์ทางเผ่าพันธุ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1969 17 อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นของวิถีทางแห่งเอกราช บนความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติเทียม ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลอังกฤษว่า พรรคพันธมิตรคือตัวแทนของทุกเชื้อชาติ ตามที่ได้ตั้งโจทย์ไว้ ส่งผลให้พรรคพันธมิตร คือกลุ่มการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากทั้งประชาชนมลายา และรัฐบาลอังกฤษ ในการเป็นตัวแทนสำหรับการแสวงหาหนทางไปสู่เอกราชของมลายา
ดังนั้นแนวทางของพรรคพันธมิตร ก็คือแนวทางเดียวกับแนวทางของบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ ที่มีการศึกษาแบบอังกฤษ มีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลอังกฤษ มีลักษณะความเป็นอนุรักษ์นิยมที่เต็มไปด้วยความประนีประนอมรอมชอม ส่งผลให้วิถีทางของความเป็นเอกราชของมลายา จึงเหมือนกับการต่อต้านแผนการสหภาพมลายา ซึ่งนั่นก็คือ การเจรจาเพื่อให้ได้มาซึ่งบรรลุเป้าหมายจากเงื่อนไขที่รัฐบาลอังกฤษได้ตั้งไว้ว่า ถ้าหากมลายาสามารถทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป จึงจะให้มลายาเป็นเอกราชได้ ซึ่งเงื่อนไขนั้นก็คือ
ก. การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อชาติในพหุสังคม
ข. การจัดการกับปัญหาคอมมิวนิสต์
สำหรับปัญหาแรกนั้น จากการรวมกันของพรรคพันธมิตร ซึ่งถือได้ว่ารัฐบาลอังกฤษได้ยอมรับว่าเป็นตัวแทนของทุกเชื้อชาติแล้ว ส่วนปัญหาที่สองนั้นที่ถึงแม้ว่าปัญหาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายานั้นจะเบาบางลง แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังมิได้หมดสิ้นไป ดังนั้นตนกู อับดุลห์ รามานห์ จึงได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาประนีประนอมกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ โดยรัฐบาลมลายาจะให้นิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อการร้ายในปี ค.ศ. 1955 และจะประกาศยุติภาวะฉุกเฉิน ซึ่งตนกู อับดุลห์ ราห์มาน พร้อมด้วย ตัน เชง ล็อก และเดวิด มาร์แชล ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ในขณะนั้น ได้เจรจากับ จิน เปง หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา โดยสถานการณ์ขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายาไม่สามารถอ้างได้ว่า จะสู้รบเพื่อเอกราชได้อีกต่อไป เพราะเรื่องเอกราชได้ดำเนินไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามการเจรจาในครั้งนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และภาวะฉุกเฉินก็ยังคงดำเนินสืบไป 18
หลังจากนั้นความพยายามของบรรดาสุลต่าน และพรรคพันธมิตรก็ได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากปัญหาคอมมิวนิสต์นั้น เป็นปัญหาที่จะต้องค่อยๆแก้ไข ประกอบกับความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นแนวทางเพื่อความเป็นเอกราชของมลายา ซึ่งจะต้องดำเนินการโดยบรรดาชนชั้นนำจึงได้ขอตัดประเด็นเงื่อนไขเรื่องคอมมิวนิสต์ออกไป และมุ่งไปสู่การเจรจาเรื่องความเป็นเอกราชกับรัฐบาลอังกฤษโดยตรง ซึ่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 1958 ตัวแทนจากพรรคพันธมิตร พร้อมทั้งบรรดาสุลต่าน ได้เดินทางไปอังกฤษ โดยการนำของตนกู อับดุลห์ ราห์มาน 19 ตลอดการเจรจานั้นดูเหมือนว่า จะมีปัญหาบางประการในเรื่องบริหารของช่วงการส่งผ่านไปถึงความเป็นเอกราช แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวก็สามารถลุล่วงไปได้
หลังจากนั้นก็มีการตอบสนองจากรัฐบาลอังกฤษ ต่อปฏิกิริยาของบรรดาสุลต่านและพรรคพันธมิตร โดยอังกฤษได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประกอบด้วยสมาชิก 5 คน ซึ่งเลือกสรรมาจากเครือจักรภพ ภายใต้ประธาน คือ ลอร์ด รีด เพื่อฟังความเห็นของชาวมลายา และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ค.ศ. 195620 ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมลายาเพื่อการเป็นเอกราช แม้กระนั้นก็ตามรัฐธรรมนูญขั้นสุดท้ายก็ไม่น่าพอใจทั้งหมด ซึ่งทั้งตัวแทนของสุลต่านกับพรรคพันธมิตรได้โต้แย้งกัน ที่สุดในรัฐธรรมนูญเมอร์เดกานี้ ก็คือ สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพลเมือง และสิทธิพิเศษต่างๆ ของชาวมาเลย์ โดยที่อัมโน และตัวแทนของสุลต่านถูกขอร้องให้ยอมรับเอกสารที่จะกำหนดให้ถือสัญชาติเดียวกัน และยอมที่จะให้ประชาชนทั้งหมดในมลายามีคุณสมบัติเป็นพลเมืองโดยกำเนิด (Jus Soil) หรือโดยปฏิบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดในเรื่องที่อยู่และภาษา พร้อมกับสาบานว่าจะมีความจงรักภักดี การยอมตกลงขั้นสุดท้ายของอัมโน และตัวแทนของสุลต่านเกี่ยวกับข้อกำหนดข้อนี้ ก็ได้มาด้วยการรับประกันสิทธิพิเศษของภูมิบุตรมาเลย์เป็นการตอบแทน
ดังนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงกำหนดให้ประมุขสูงสุด (ยังดี เปอร์ตวน อากง) มีความรับผิดชอบในเรื่องการปกป้องฐานะพิเศษของชาวมาเลย์ เช่นเดียวกับ “ผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย” ของเชื้อชาติอื่นๆ อนุประโยคหลังนี้สะท้อนให้เห็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคณะกรรมการ ในความพยายามที่จะทำให้ข้อเรียกร้องของมาเลย์เป็นที่พอใจ ขณะที่รักษาไว้ซึ่งหลักการเดิมในเรื่องการถือสัญชาติเดียวกัน พร้อมด้วยการเป็นพลเมือง นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ เมอร์เดกา (Medeka Constitution) ได้กำหนดให้มีการประชุม Dubar (การประชุมของบรรดาสุลต่าน) เพื่อเลือกประมุขสูงสุดตามหลักอาวุโส โดยให้มีวาระ 5 ปี ในส่วนของรัฐสภานั้น ประกอบด้วยสภาผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด (Dewan Rakyal) และวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้ง (Dewan Negara) บัญชีรายชื่อของรัฐ (State List) และบัญชีรายชื่อที่เห็นพ้อง (Concurrent List) จากนั้นสภานิติบัญญัติจึงได้ให้สัตยาบันรับรองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1957 และการประกาศเอกราชของสหพันธรัฐมลายา ก็มีขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1957 21
บนความเป็นเอกราชของมลายาโดยบทบาทของชนชั้นนำมาเลย์ หรือ บรรดาสุลต่าน เชื้อ พระวงศ์ และแกนนำของพรรคอัมโนที่ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นสูง ที่ต่างก็ได้รับความเคารพนับถือจากชาวมาเลย์ในฐานะตัวแทนของชาวมาเลย์ทั้งปวงเสมอมา ประกอบกับการมีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลอังกฤษแต่เดิม ซึ่งบรรดาชนชั้นนำมาเลย์ก็ยังคงใช้หลักการในการเจรจาประนีประนอม โดยที่อังกฤษเองก็พร้อมยอมรับข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ด้วยความรอมชอม เห็นได้จากกรณีที่อังกฤษยอมให้เอกราชแก่ มลายา ทั้งที่เงื่อนไขในประเด็นคอมมิวนิสต์ และภาวะฉุกเฉินนั้นก็ยังไม่สิ้นสุด โดยภาวะฉุกเฉินนั้นได้ยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 1960 22 และประเด็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ ที่อังกฤษเองก็ได้ยอมรับในเงื่อนไขที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิของภูมิบุตรมาเลย์ เป็นต้น อาจจะกล่าวได้ว่า การได้รับการยอมรับจากชาวมาเลย์ที่มีต่อบรรดาชนชั้นนำ และการเจรจากับอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 1950 -1960 ภายใต้บทบาทของชนชั้นนำมาเลย์ คือ บทบาทที่สามารถทำให้มลายา สามารถก้าวไปสู่ความเป็นเอกราชบนแนวทางสันติวิธีได้สำเร็จ

-------------------------------------------------------

เชิงอรรถ

1 อุษณีย์ กรรณสูต, พื้นฐานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ : บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2516), หน้า 20
2 ซี แมรี เทรินบูล, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน, แปลโดย ทองสุข เกตุโรจน์ (กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ, 2540), หน้า 425
3 Gordon P. Means, op. cit., p.124-125
4 บาร์บารา วัตสัน อันดายา และลีโอนาร์ด วาย อันดายา, ประวัติศาสตร์มาเลเซีย : A History of Malaysia, แปลโดย พรรณี ฉัตรพลรักษ์ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำรา, 2549), หน้า 459
5 Gordon P. Means, op. cit., p.126
6 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 459
7 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 425
8 ชัยโชค จุลศิริวงศ์, พรรคการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546), หน้า 335
9 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 460
10 ซี แมรี เทรินบูล, เรื่องเดิม, หน้า 426
11 เอน.เจ.ไรอัน, เรื่องเดิม, หน้า 253
12 อุษณีย์ กรรณสูต, เรื่องเดิม, หน้า 180
13 ชัยโชค จุลศิริวงศ์, เรื่องเดิม, หน้า 339
14 เรื่องเดิม, หน้า 334
15 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 445
16 ชัยโชค จุลศิริวงศ์, เรื่องเดิม, หน้า 333
17 เรื่องเดิม, หน้า 335
18 เอน.เจ.ไรอัน, เรื่องเดิม, หน้า 253
19 Stanley S. Bedlington, op. cit,. P.89
20 Ibid
21 บาร์บารา วัตสัน อันดายา, เรื่องเดิม หน้า 462
22 เอน.เจ.ไรอัน, เรื่องเดิม, หน้า 253
Keywords : การเมืองมาเลเซีย, ชนชั้นนำ, ขบวนการชาตินิยม, อิสลาม, วทัญญู ใจบริสุทธิ์

ไม่มีความคิดเห็น: