วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น
วันที่ 25 กันยายน 2007 รัฐสภาของญี่ปุ่นได้ลงมติเลือกนายยาสุโอะ ฟุกุดะ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายชินโสะ อาเบะ ที่ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2007 แต่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งเป็นบุตรชายของอดีตนายกรัฐมนตรีทาเคโอะ ฟุกุดะ เจ้าของฉายา “ลัทธิฟุกุดะ” ผู้โด่งดังในเอเชียตะวันออกเมื่อทศวรรษ 1970 จะยืนหยัดอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นานเพียงใด ท่ามกลางการต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งในสภาสูง
นายอาเบะ นายกรัฐมนตรีคนก่อนได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน 2006 โดยเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งอายุน้อยที่สุดของญี่ปุ่น ผลงานสำคัญคือการออกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จในเดือนพฤษภาคม 2007 และสามารถแก้ไขความสัมพันธ์ที่เย็นชากับประเทศเพื่อนบ้านคือ จีนและเกาหลีใต้ได้สำเร็จ แต่คณะรัฐมนตรีของเขามีข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับการเงิน เช่น การแจ้งจำนวนค่าใช้จ่ายในการหาเสียง เรื่องการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างไม่ถูกต้อง จนทำให้มีรัฐมนตรีต้องลาออกรวมทั้งกระทำอัตวินิบาตกรรมไปถึง 5 คน ทำให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาสูงเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2007 พรรค LDP (Liberal Democratic Party) ซึ่งนายอาเบะเป็นประธาน ต้องพ่ายแพ้แก่พรรค DPJ (Democratic Party of Japan) ที่กลายมาเป็นพรรคซึ่งครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง
ความแตกต่างระหว่างนายอาเบะกับนายโคอิสุมิ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ได้ถึง 5 ปี อยู่ที่นโยบายการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ในยุคของนายโคอิสุมินั้น เขาเน้นการปฏิรูปกิจการไปรษณีย์ เป็นหัวใจของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมืองของญี่ปุ่น ความเพลี่ยงพล้ำของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเก่าแก่ในพรรค LDP ทำให้ชาวญี่ปุ่นตื่นเต้น เพราะสอดคล้องกับความปรารถนาของชาวญี่ปุ่น ที่ต้องการจะเห็นการปรับโครงสร้างทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ และได้รับการตอบรับอย่างดี แต่ญี่ปุ่นก็มีปัญหาอย่างมากกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีนและเกาหลีใต้ อีกทั้งผลจากการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเติบโตช้าลงไปบ้าง ก็ทำให้ชาวญี่ปุ่นบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะฉะนั้นแม้ว่านายโคอิสุมิจะได้รับความนิยมจากบุคคลทั่วไปในระยะแรก แต่กลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากภายในพรรค LDP ในช่วง 10 เดือนแรกของรัฐบาล นายอาเบะไม่ได้สานต่อนโยบายการปฏิรูปมากเหมือนกับที่นายโคอิสุมิดำเนินการไว้อย่างแข็งขัน นายอาเบะดูจะหันไปหาแนวทางที่มุ่งให้เศรษฐกิจเติบโตโดยเร็ว มากกว่าการปฏิรูปที่ต้องอดทนกับการเติบโตช้า นอกจากนั้นนายอาเบะก็ไปมุ่งเน้นกิจการต่างประเทศมากกว่าการปฏิรูป ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเมื่อนายอาเบะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศเป็นประเด็นที่เร่งด่วน สหรัฐอเมริกาก็กำลังเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับกรณีปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ อีกทั้งยังมีกรณีที่ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิงที่ถูกบังคับเป็นนางบำเรอในช่วงสงครามโลก
อีกประการหนึ่งคือการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ในขณะที่นายโคอิสุมิไม่ได้ปรึกษาหัวหน้ากลุ่มต่างๆ ทำให้รัฐมนตรีต่างต้องขึ้นตรงต่อนายโคอิสุมิ แต่ทีมของนายอาเบะกลับไม่รู้สึกว่าต้องรับผิดชอบต่อนายกฯ มากเท่าที่ควร นำมาซึ่งปัญหาที่ทำให้ความนิยมในตัวนายกรัฐมนตรีอาเบะตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2006 เมื่อบรรดารัฐมนตรีของนายอาเบะ เริ่มมีปัญหาถูกเปิดโปงเรื่องการคอร์รัปชั่น ต่อมารัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและการต่างประเทศ วิจารณ์นโยบายของสหรัฐฯในกรณีโอกินาวาและในปฏิบัติการที่อิรัก ทั้งๆที่นายกรัฐมนตรีมีนโยบายเดินตามสหรัฐฯ สร้างความอิหลักอิเหลื่อให้แก่นายกรัฐมนตรี ครั้นต่อมาพรรค LDP นำโดยนายอาเบะ มีการรับสมาชิกพรรคที่เคยต่อต้านการปฏิรูปกิจการไปรษณีย์สมัยนายโคอิสุมิกลับเข้าพรรคอีก 11 คน เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนทำให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงในมาตรฐานทางคุณธรรมของผู้นำประเทศมากขึ้น เพราะฉะนั้นเมื่อมีข่าวเปิดโปงออกมาเรื่องการคอร์รัปชั่นของรัฐมนตรีคนอื่นๆรัฐมนตรีคนหนึ่งถึงกับสังหารชีวิตตนเอง และมีความผิดพลาดเรื่องการดูแลกองทุนเบี้ยประกันสวัสดิการคนชรา จึงยิ่งตอกย้ำความผิดพลาดของนายอาเบะที่ไปเลือกเอาคนที่มีปัญหามารับตำแหน่งสำคัญๆของประเทศ แม้ว่าภายหลังจากการเลือกตั้งสภาสูงแล้วมีการปรับคณะรัฐมนตรี ก็ไม่ช่วยให้ภาพพจน์ของนายอาเบะดีขึ้นได้ จนต้องลาออกไปในที่สุด
นายฟุกุดะนั้นกล่าวกันว่าเป็นนักเจรจาที่เก่งมากคนหนึ่ง เคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมาหลายสมัย มีความสัมพันธ์กับบุคคลในวงการต่างประเทศดี และมีประสบการณ์เด่นๆในด้านการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรีของเขาชุดนี้ เน้นการเลือกบุคคลที่มีศักยภาพที่จะผลักดันนโยบายการต่ออายุปฏิบัติการของกองกำลังป้องกันตนเองในมหาสมุทรอินเดีย และหันกลับไปอาศัยการปรึกษาผู้นำกลุ่มต่างๆในพรรค ในการคัดสรรบุคคลมาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี วิธีนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือการปรึกษาหัวหน้ากลุ่มต่างๆของพรรค ช่วยให้คณะรัฐมนตรีของนายฟุกุดะไม่ถูกต่อต้านจากภายในพรรคมากจนเกินไป ข้อเสียคือเชื่อกันว่าการเมืองในรูปแบบเก่าๆก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบ และประชาชนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นจุดขายของนายโคอิสุมิ
ปัญหาค้างคาที่รัฐบาลของนายฟุกุดะจะต้องจัดการก็คือ 1) การผ่านกฎหมายต่ออายุปฏิบัติการสนับสนุนกองทัพของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ซึ่งกองกำลังของญี่ปุ่นปฏิบัติการเติมน้ำมันในมหาสมุทรอินเดีย 2) การปรับระบบภาษีหรือการขึ้นภาษีผู้บริโภค เพื่อนำรายได้มาใช้จ่ายในการดูแลสังคมคนชราของญี่ปุ่น ซึ่งกำลังมีสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบันและในอนาคตด้วย และ 3) การปรับปรุงระบบสวัสดิการคนชรา
ช่วงสำคัญของรัฐบาลญี่ปุ่นขณะนี้คือ รัฐสภาเพิ่งเปิดประชุมสมัยวิสามัญไปเมื่ออาทิตย์ที่สองของเดือนกันยายน 2007 ต้องหยุดชะงักไปเพราะการลาออกของนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ประเด็นเร่งด่วนที่ค้างคาอยู่ คือปฏิบัติการในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2007 การคงกองกำลังไว้ปฏิบัติการสนับสนุนกองกำลังของสหรัฐฯ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับญี่ปุ่นซึ่งต้องการปรับตัวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลก ต้องการแสดงตนว่ามีส่วนร่วมรับผิดชอบในกิจการของโลก ไม่ใช่เพียงแต่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่พรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งของญี่ปุ่น เกรงว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวในกิจการร่วมกับสหรัฐฯ อาจทำให้ญี่ปุ่นถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องในความขัดแย้งอื่นๆของโลกด้วย อันเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา พรรคฝ่ายค้านซึ่งขณะนี้มีเสียงส่วนใหญ่ในสภาสูง วางแผนที่จะโค่นล้มความพยายามของรัฐบาลในเรื่องนี้ และต้องการจะบีบให้มีการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เปิดโอกาสให้พรรค DPJ ขึ้นมาเป็นพรรคเสียงข้างมากในสภา และจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาสำหรับนายฟุกุดะก็คือ รัฐสภาจะสามารถโน้มน้าวสมาชิกรัฐสภา เพื่อผลักดันให้มีการต่ออายุปฏิบัติการเติมน้ำมันนี้ได้หรือไม่ การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ คงจะไม่ดีต่อกระบวนการออกกฎหมายต่ออายุปฏิบัติการในมหาสมุทรอินเดีย แต่สำหรับนายฟุกุดะ ความหวังที่ยังพอมีอยู่ก็คือ ตราบใดที่ยังมีการเจรจากันระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาล กองกำลังก็ยังสามารถปฏิบัติการไปได้เรื่อยๆ
ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ดูเหมือนว่าฝ่ายที่เห็นชอบกับการคงกองกำลังไว้ในมหาสมุทรอินเดียกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการและความเข้าใจของประชาชน อาจจะช่วยสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลได้มาก แต่ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักของพรรคฝ่ายค้าน ผู้นำของพรรคหาเสียงไว้ตั้งแต่ช่วงการเลือกตั้งสภาสูง และมีท่าทีแข็งขันมาตลอด แม้ว่าผู้แทนจากสหรัฐฯจะเคยขอเจรจาโดยตรงกับผู้นำพรรค DPJ มาแล้วด้วยซ้ำ หากพรรค DPJ ไม่สามารถผลักดันประเด็นของตนเองให้ถึงที่สุด หรือเปลี่ยนใจกลับลำในตอนนี้ ก็คงจะต้องเสียคะแนนนิยมไปอย่างที่เรียกว่ากู่ไม่กลับ ซึ่งเรื่องนี้หัวหน้าพรรคอย่างนายโอซาวา (Ichiro Ozawa) จะต้องสู้ยิบตาอย่างแน่นอน
เพียงเรื่องกองกำลังในมหาสมุทรอินเดียเรื่องเดียว ก็เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่หนักหน่วงสำหรับนายฟุกุดะแล้ว คงยังไม่ต้องพูดถึงการขึ้นภาษีผู้บริโภค ซึ่งแม้จะเข้าใจกันว่าเป็นความจำเป็นของประเทศ แต่ก็ไม่มีใครต้องการให้เกิด อุปสรรคสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พรรคฝ่ายค้านก็กำลังเร่งรัดให้มีการยุบสภา หากรัฐบาลสามารถผ่านพ้นอุปสรรคเรื่องปฏิบัติการในมหาสมุทรอินเดียได้ ฝ่ายค้านก็เตรียมที่จะขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งก็จะเป็นการบีบรัฐบาลอีกทางหนึ่งให้ยุบสภา ดูเหมือนว่าอนาคตของรัฐบาลนายฟุกุดะจะยากลำบากจริงๆ
Keywords : การเมืองญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีฟูกุดะ ญี่ปุ่น ทรายแก้ว ทิพากร

ไม่มีความคิดเห็น: