วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

ประเมิน 2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลทักษิณ

ประเมิน 2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลทักษิณ รูปธรรมของการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ(1)

โดย วิทวัส ศรีวิหค สำนักนโยบายและแผนกระทรวงการต่างประเทศ มติชนรายวัน วันที่ 13 มีนาคม 2546

ผมอ่านหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2545 ลงบทความของ รศ.ดร.ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทักษิณ ในรอบ 2 ปี ให้เกรดรวมเป็นเกรด C นั้น ผมเห็นว่า ผู้อ่านควรได้รับทราบข้อเท็จจริงมากกว่านี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ความจริงแล้ว ข้อมูลที่จะนำมาเล่าให้ฟังต่อไปนี้สามารถตรวจสอบหาอ่านได้ จากแหล่งข่าว websites ต่างๆ โดยเฉพาะของกระทรวงการต่างประเทศ จึงขอระบุเฉพาะของจริงที่เกิดขึ้น ในการดำเนินการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจที่เป็นผลงานของนโยบายต่างประเทศรัฐบาล ดังนี้

การเจรจาเขตการค้าเสรี(Free Trade Agreement FTA)

FTA เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ที่มอบให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันปฏิบัติ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้นำเคาะประตูประเทศต่างๆ ในการเจรจากรุยทาง เพื่อนำไปสู่ความเห็นพ้องร่วมกันก่อนที่จะจัดทำข้อตกลงฯ หลังจากนั้น จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้เจรจาในรายละเอียด โดยมีกระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพหลักในการเจรจารายละเอียดของสินค้าและบริการ และมีผู้แทนของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมในการเจรจา

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมอบรัฐมนตรีต่างประเทศไปอินเดียเพื่อกรุยทางเรื่องการจัดทำ FTA ไทย-อินเดีย รัฐมนตรีต่างประเทศได้หยิบยกเรื่อง FTA กับรัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 11-14 ก.ค.44 จากนั้นในระหว่างการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการของท่านนายกรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบเรื่องนี้ กับท่านนายกรัฐมนตรีอินเดียเมื่อวันที่ 26-29 พ.ย.2544 และ 1 ก.พ.2545

กับญี่ปุ่นหลังจากได้ให้กระทรวงการต่างประเทศได้ทาบทามความเห็นฝ่ายญี่ปุ่นระยะหนึ่งแล้วท่านนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ ได้เห็นชอบให้มีการจัดทำ FTA ในกรอบที่เรียกว่า การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ไทย-ญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือ หุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(Japan-Thailand Economic Partnership หรือ JTEP) ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองพบกันที่เกาะไหหลำคราวเข้าร่วมประชุม Boao Forum For Asia เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2545 และเห็นชอบให้กระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศ เป็นผู้ประสานงานเตรียมการเจรจาอย่างเป็นทางการ

ขณะนี้ คณะทำงานดังกล่าว ของฝ่ายไทยนำโดย อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเปิดให้ภาคเอกชนและนักวิชาการเข้าร่วมด้วยนั้น จะพบกันที่กรุงโตเกียวเป็นรอบที่ 4 คาดว่า การเจรจาอย่างเป็นทางการจะเริ่มในครึ่งหลังของปี และสิ้นสุดในปลายปีนี้

กับ บาห์เรน ออสเตรเลีย สหรัฐ ก็เป็นไปตามแนวทางที่ท่านนายกฯมอบไว้คือ รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้นำไปปฏิบัติในการทาบทามกรุยทาง เมื่อมีลู่ทางเป็นไปได้แล้วนายกรัฐมนตรีก็จะหารือเพื่อความเห็นชอบจากผู้นำประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบด้านการค้าก็จะเป็นเจ้าของเรื่อง เป็นผู้เจรจาในด้านเทคนิคพร้อมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง

ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

มีการฟื้นฟูและยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้นโยบายขยายสัมพันธ์เชิงรุก(Forward Engagement) ซึ่งทำให้สถานะความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านพัฒนารุดหน้าในด้านต่างๆ เกิดความไว้วางใจและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ตัวอย่างที่เห็นคือ

กับพม่า รัฐบาลสามารถคลี่คลายสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณชายแดนและเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างผู้นำ จนนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างใกล้ชิดระหว่างสองประเทศ เห็นได้จากการเยือนของบุคคลระดับสูงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ ด้านยาเสพติด สามารถเชิญชวนให้พม่าเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือ 4 ฝ่าย(ไทย พม่า จีน ลาว) และเมื่อเร็วๆ นี้ ในระหว่างการเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ ที่กรุงนิวเดลี 1 ก.พ.45 อินเดียก็พร้อมเข้าร่วมด้วยอีกประเทศหนึ่ง

มีความเห็นชอบกับพม่าในการสร้างสะพานแห่งที่ 2 ข้ามแม่น้ำแม่สาย

รัฐบาลไทยกำลังให้ความช่วยเหลือพม่า ทั้งแบบให้เปล่า และเงินกู้ในการเชื่อมเส้นทางทั้งจากแม่สอด เมียวดี-พะอัน

รัฐมนตรีต่างประเทศได้เป็นผู้ริเริ่มร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า และอินเดีย ในการจัดกรอบการประชุมเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างไทย-พม่า-อินเดีย อันจะเป็นส่วนสำคัญที่มาเชื่อมต่อ East-West Corridor ที่ไทยมีบทบาทสำคัญ

นอกจากนี้ พม่ายังได้แสดงความขอบคุณไทยที่มีสิ่งที่ดีๆ ต่อการเสริมสร้างกระบวนการปรองดองแห่งชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่าอีกด้วย

กับลาว และเวียดนาม มีการแก้อุปสรรคต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางจากมุกดาหาร ไปออกทะเลจีนใต้ที่เมืองดานัง จนลงนามความตกลงต่างๆ เกี่ยวกับการก่อสร้างได้หมดแล้ว

ในระหว่างการประชุมทั้งในกรอบคณะกรรมาธิการร่วม(Joint Committee-JC) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(Joint Border Committee-JBC) ร่วมกับประเทศลาวนั้น ทุกหน่วยงานยอมรับว่าเป็นไปได้ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรและมีความร่วมมือ การเจรจาเส้นเขตแดนมีความคืบหน้า ในปีที่ผ่านมาสามารถจัดทำหลักเขตแดนได้เพิ่มขึ้นอีก 23 หลัก ระยะทางประมาณ 109.5 กิโลเมตร ขณะนี้ได้ 171 หลัก ระยะทาง 667 กิโลเมตร ของความยาวเขตแดนทางบก 702 กิโลเมตร โดยทั้งสองฝ่ายมีแผนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2546 ซึ่งรวมถึงการสำรวจและจัดทำเขตแดนทางน้ำด้วย

ไทยให้เงินกู้แก่ลาวในการสร้างทางเชื่อมเชียงของ ผ่านลาวไปสู่ยูนนาน ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย-ADB ยกย่องว่าเป็นตัวอย่างของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) และลาวให้ความร่วมมือแข็งขันในการเชื่อมต่อการขนส่งและการท่องเที่ยวผ่านทางแม่น้ำโขง นอกจากนี้ ลาวขยายเวลาเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่หนองคายอีก 2 ชั่วโมงอีกด้วย

กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ผลักดันในการจัดสร้างศูนย์ส่งเสริมการส่งออกสินค้าลาวที่เวียงจันทน์ เพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าสองฝ่ายให้มากยิ่งขึ้น และไทยให้ความช่วยเหลือในการสร้างหอพักนอนของนักเรียนที่โรงเรียนบ่อแก้ว แขวงไชยะบุรี เพื่อส่งเสริมมิตรภาพในระดับประชาชนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

กับกัมพูชา นอกเหนือจากการที่สมเด็จนโรดมสีหนุได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สหไมตรี ให้แก่ ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะบุคคลที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง เมื่อ 11 ต.ค.44 แล้ว ไทย-กัมพูชา ยังมีความร่วมมือที่แสดงถึงพัฒนาการของความสัมพันธ์ในมิติใหม่ๆ เห็นได้จากผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมเมื่อวันที่ 6-7 ธ.ค.2544 ไทยกับกัมพูชาเริ่มมีการตั้งคณะกรรมการเจรจาเขตทับซ้อนทางทะเลอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยมีทั้งระดับรัฐมนตรี และระดับเจ้าหน้าที่เทคนิค ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กับกระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบอยู่

กัมพูชายังเป็นประเทศแรก ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านที่ลงนามในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจแบบครอบคลุมครบวงจร ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่ไทยที่จะเสนอกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ นอกจากนี้ กัมพูชาเป็นประเทศที่ไทยให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ ทุนฝึกอบรมผ่านกรมวิเทศสหการเป็นจำนวนมาก

ในด้านการสร้างและซ่อมถนน ฝ่ายไทยให้ความช่วยเหลือ สำหรับเส้นทางตราด-เกาะกง-สแรอัมเปิล การตัดถนนผ่านช่องสะงำผ่านศรีสะเกษมาที่เมืองเสียมราฐ กล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ทั้งในภาพรวม และระดับต่างๆ เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น

ส่วนเหตุการณ์การเผาสถานทูต และทรัพย์สินของเอกชนไทยในกรุงพนมเปญนั้น ผู้เขียนบทความซึ่งเป็นอาจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ และอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศ น่าจะทราบดีว่า มีสาเหตุมาจากการเมืองภายในของกัมพูชาเอง มิได้เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ดำเนินการทางทูตอย่างรวดเร็วและเต็มที่ในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาครัฐและเอกชนไทย และให้ความช่วยเหลือคนไทยที่อาศัยอยู่ในกัมพูชาให้เดินทางกลับประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย

ความร่วมมือในกรอบเอเชีย(ACD)

มีความคืบหน้าชัดเจนนับตั้งแต่การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2545 ที่ อ.ชะอำ ทั้งในส่วนของการหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ ACD และในส่วนของความร่วมมือต่างๆ ในส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศ ACD ยังได้พบหารือกันต่อในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2545 สำหรับในเรื่องของความร่วมมือ ขณะนี้มีประเทศ ACD ต่างๆ อาสาเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาที่ตนเห็นว่ามีจุดแข็งน่าจะร่วมมือกันได้ในกรอบ ACD เช่น บาห์เรน และอินโดนีเซีย จะจัดประชุมเรื่องพลังงานในเดือนเมษายน 2546 บังกลาเทศกำลังจัดการประชุมเรื่องการแก้ไขความยากจนโดยพิจารณาปัญหาของการใช้แรงงานเด็กอยู่ในขณะนี้กรุงธากา สิงคโปร์ จะจัดประชุมหน่วยงานที่ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ในเดือนพฤษภาคม 2546(รายละเอียดมีอยู่มากใน website กต. www.mfa.qo.th. คลิกเข้าไปที่กรอบความร่วมมือ ACD ได้)

ที่ผู้เขียนบทความได้ให้เกรด C ในเรื่อง ACD โดยกล่าวว่าแม้รัฐบาลจะจัดประชุมครั้งแรกได้ ก็เป็นไปอย่างทุลักทุเลนั้น ข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างตรงกันข้าม เพราะจริงๆ แล้วฝ่ายไทย มีความลำบากใจที่จำเป็นต้องตอบปฏิเสธอีกหลายประเทศที่อยากเข้าร่วมประชุม

นอกจากนี้ ในกรณีของญี่ปุ่นที่ผู้เขียนไม่ทราบได้ข้อมูลมาแบบใด ว่าต้องมาแบบเสียไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงคือ รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ติดประชุมสภา แม้แต่การไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป ที่กรุงมาดริดในช่วงต้นเดือนมิถุนายนก็ยังไปไม่ได้ แต่เพื่อต้องการแสดงบทบาทของญี่ปุ่นในกรอบความร่วมมือในเอเชีย จึงได้ขออนุญาตรัฐสภาเข้าร่วมประชุมตั้งแต่ต้นจนจบ และรัฐสภาได้อนุญาตเพราะเห็นว่าเป็นการประชุมที่สำคัญยิ่ง

ผมขออนุญาตนำเรื่องบนโต๊ะอาหารในคืนวันแรกที่ท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เลี้ยงเป็นเกียรติแก่ผู้เข้าร่วมประชุมมาเล่าสู่กันฟังว่า รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่น ได้แจ้งที่โต๊ะอาหารต่อหน้าบรรดารัฐมนตรีต่างประเทศ ACD ทั้งหลายว่า ในอนาคตประวัติศาสตร์จะต้องจารึกว่า วันนี้ ณ สถานที่แห่งนี้ คือจุดเริ่มของความร่วมมือเอเชียครั้งสำคัญ และรู้สึกชื่นชมต่อประเทศไทยที่เป็นผู้นำและริเริ่มในเรื่องนี้ โดยเห็นว่า การที่ประเทศเอเชียมีการหารือกันทำนองนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก ขอให้ ACD รักษาลักษณะเช่นนี้ไว้ เรื่องนี้นักวิชาการมักมองว่าเป็นเวทีคุย(talk shop) ไม่ได้ประโยชน์ แต่จริงๆ แล้ว เอเชียต้องคุยกันมากๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและสนิทสนมกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่

นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก เมื่อ ก.ย.44 รัฐมนตรีต่างประเทศเกือบทุกประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่น จีน อินเดีย ก็ได้เข้าร่วมการประชุมที่เรียกว่า ACD Breakfast Meeting ซึ่งแสดงถึงความสนใจและความกระตือรือร้นของประเทศสมาชิก ACD ในการผลักดันแนวคิดของไทยให้เป็นรูปธรรม การหารือกันในครั้งนี้ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์อิรักอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย เพราะอย่าลืมว่า ACD มีประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาคต่างๆ ของเอเชีย มีทั้งประเทศที่มีประชากรพันล้าน มีทั้งประเทศที่เป็นมุสลิม มีทั้งประเทศที่เป็นยักษ์ใหญ่เศรษฐกิจ

สำหรับการเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้นั้น ผู้เขียนน่าจะสอบถามเพื่อนฝูงในกระทรวงการต่างประเทศว่า ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือมีหลายประเทศเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพ แต่ความเห็นของรัฐมนตรีต่างประเทศ ACD ส่วนใหญ่ ขอให้ไทยในฐานะผู้ประสานงานรับต่อไปอีก 1 ปีก่อน ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าตามองค์ประกอบของ ACD อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ก็มีบทบาทสำคัญเป็นแกนของ ACD อยู่แล้ว

การที่ผู้เขียนเสนอว่าควรจะพัฒนา ACD ไปจาก ASEAN+3 หรือ ASEAN+4 ที่มีอินเดียด้วยนั้น คงเป็นคนละเรื่องกัน เพราะ ASEAN+3 และ ASEAN+1 ที่มีอินเดียร่วมด้วย เป็นคนละเรื่องกับ ACD และ ASEAN+4 ก็ยังไม่ได้มีอยู่ในสารบบขณะนี้ เพราะ ASEAN มีความสัมพันธ์ในกรอบ ASEAN+3 และ ASEAN+1

หน้า 7


ประเมิน 2 ปี นโยบายต่างประเทศรัฐบาลทักษิณ รูปธรรมของการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ (2)

โดย วิทวัส ศรีวิหค สำนักนโยบายและแผน กระทรวงการต่างประเทศ มติชนรายวัน วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2546

บทบาทไทยในกรอบอาเซียน

บทความดังกล่าวยังเห็นว่าไทยไม่มีบทบาทเด่นในอาเซียน และแทบไม่มีข้อเสนอในอาเซียนอันเป็นความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศไทยนั้น ข้อเท็จจริง ก็คือ

ไทยไม่มีความทะเยอทะยานจะเป็นผู้นำอาเซียนในลักษณะที่ผู้เขียนนึกคิด สิ่งที่รัฐบาลมุ่งหมายและดำเนินการมาโดยตลอดคือ การผลักดันให้อาเซียนมีความเข้มแข็งทั้งภายในอาเซียนและภายนอก ซึ่งก็คือความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออก และเอเชียใต้

ไทยสนับสนุนการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน กับญี่ปุ่น จีนและอินเดีย แม้แต่ผู้นำเช่น อินเดีย และจีน ก็กล่าวขอบคุณไทยในบทบาทนี้ต่อหน้าสาธารณชน

ไทยเป็นผู้ผลักดันให้เขตการค้าเสรีอาเซียน(ASEAN Free Trade Area - AFTA) มีความศักดิ์สิทธิ์ เช่น การขอให้มาเลเซียปฏิบัติตามความตกลงในกรอบ AFTA

ไทยผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องของการลดช่องว่างของประเทศสมาชิก ผ่านกลไกข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initative for ASEAN Integration - IAI และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS)

ไทยผลักดันบทบาทของ ARF โดยสนับสนุนให้ประธาน ARF คือ รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา มีบทบาทในการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี

ในช่วงหลังของเหตุการณ์ 11 ก.ย. ไทยผลักดันให้เกิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในลักษณะ retreat ที่ภูเก็ต เพื่อให้อาเซียนสามารถผนึกกำลังแสดงบทบาททางการเมืองของตนในด้านการต่อต้านการก่อการร้าย

ไทยจะร่วมมือกับสิงคโปร์ในการจัด ASEAN Show case ในระหว่างการประชุมผู้นำ APEC เดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะเป็นการนำจุดเด่นทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้ปรากฏอย่างชัดเจนในสายตาผู้นำเศรษฐกิจ และผู้นำ CEO ทั่วโลก ที่จะมาชุมนุมกันในกรุงเทพฯ กว่า 500 คน

นอกจากนี้ ไทยยังร่วมมือกับสิงคโปร์ในการชี้นำอนาคตของอาเซียนที่จะเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของการเป็นชุมชนด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับการตอบสนองอย่างดีจากผู้นำสหภาพยุโรป ในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป (AEMM) ที่กรุงบรัสเซลส์ ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคมที่ผ่านมา

สหภาพยุโรป

ที่ผู้เขียน กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ มิได้ให้ความสำคัญกับ EU และความสัมพันธ์กับ EU ไม่มีอะไรเด่น จึงให้ เกรด D ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่าท่านนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยือน EU อย่างเป็นทางการเมื่อ 13 มิ.ย. 2545 และได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อกำหนดแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต ซึ่งมีประเด็นสำคัญ 4 ประการ คือ

1.ไทยและคณะกรรมาธิการยุโรปควรกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคเอเชียและในระดับระหว่างประเทศ เช่น ความร่วมมือในกรอบ WTO ในประเด็นที่เป็นความท้าทายระหว่างประเทศ อาทิ การต่อสู้กับการก่อการร้าย และอาชญากรรมข้ามชาติ เป็นต้น

2.คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่า ไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

3.ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการทำความตกลงด้านความร่วมมือ(Cooperation Agreement) ระหว่างกันในอนาคตอันใกล้ เพื่อใช้เป็นช่องทางผลักดันความร่วมมือในทุกด้านในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน SMEs มาตรฐานสุขอนามัยพืชและสัตว์ความปลอดภัยอาหาร และการวิจัยพัฒนา

4.ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับกลไกการหารือระดับทวิภาคีระหว่างกัน โดยให้มีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกรรมาธิการยุโรปด้านการต่างประเทศ และให้จัดตั้งกลไกการประสานงานเพื่อติดตามการดำเนินโครงการความร่วมมือที่มีระหว่างกัน

สำหรับประเด็นการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี(FTA) กับสหภาพยุโรป ตามที่บทความได้วิพากษ์ วิจารณ์นั้น แม้ว่าในภาพรวม สหภาพยุโรปจะยังไม่มีนโยบายพิจารณาจัดทำ FTA กับประเทศที่สามจนกว่าการเจรจาการค้ารอบ Doha จะเสร็จสิ้นลง ในการเดินทางไปประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 27-28 มกราคม 2546 ที่กรุงบรัสเซลส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พยายามผลักดันประเด็นดังกล่าว โดยได้มีแถลงการณ์ภายใต้หัวข้อ "พัฒนาการในอาเซียน" ในการประชุมดังกล่าว โดยเน้นว่าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนกำลังมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาการ ที่ไม่จำกัดเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน แต่ได้มุ่งไปสู่การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community:AEC) อีกทั้งการขยายความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาในรูปของ FTA และ Closer Economic Partnership (CEP) กับจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย

อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายปาสกาล ลามี กรรมาธิการยุโรปด้านการค้า ได้แสดงความตั้งใจ ที่จะผลักดันข้อเสนอการจัดทำกรอบความร่วมมือทางการค้ากับอาเซียน ในลักษณะกลุ่มต่อกลุ่ม โดยจะเริ่มจากสาขาที่มีความพร้อม และมีความสนใจร่วมกันก่อน ซึ่งนายลามี จะนำประเด็นนี้ไปหารือกับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนที่หลวงพระบางในเดือนเมษายน 2546 ซึ่งกรอบความร่วมมือดังกล่าวจะนำไปสู่การทำความตกลงในลักษณะ Preferential Regional Trade Agreement (PRTA) ต่อไป

ทีมไทยแลนด์/ออท. CEO

ในเรื่องนี้ ผู้เขียนบทความดังกล่าว เห็นว่า เป็นเรื่องผักซีโรยหน้า กฎหมายรองรับก็ไม่มีอยากขอให้ไปอ่าน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะหมวด 7(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ว่าด้วยเรื่อง การบริหารราชการในต่างประเทศ ซึ่งเป็นหมวดสำคัญที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อรองรับการปฏิรูประบบบริหารราชการในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

และเมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในการประชุมรัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการต้นสังกัดทั้งหมดที่มีสำนักงานในต่างประเทศ โดยมีนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนกลไก จัดวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสม ตลอดจนเสริมทัพผู้ที่จะไปปฏิบัติราชการประจำในต่างประเทศ(revamp) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศของไทย

สำหรับโครงการ ออท. CEO ทาง กต. ก็ได้ขอให้สถาบันสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. จัดทีมนักวิชาการ นำโดย ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กพร.มาประเมินผล ขณะนี้การทำงานมีความคืบหน้าเป็นอย่างยิ่ง ปลายปีนี้โครงการ ออท. CEO จะขยายผลใช้กับสถานทูต สถานกงสุล ของเราทุกแห่งในโลก

ในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาการแบ่งบทบาทการดำเนินการระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับกระทรวงพาณิชย์ นับเป็นเรื่องที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่เสมอๆ เพราะบทบาทของแต่ละกระทรวงในด้านเศรษฐกิจมีความชัดเจนว่า กระทรวงการต่างประเทศรับผิดชอบในเรื่องของการวางกรอบความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ และเมื่อมีกรอบที่ชัดเจน กระทรวงพาณิชย์จะมีหน้าที่สำคัญในด้านการเจรจาทางการค้า และการส่งเสริมสินค้าส่งออก ซึ่งเรื่องนี้ ในการประชุม APEC จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้ประสานงานในด้านสารัตถะ และด้านการจัดประชุมในกรอบกว้างทั้งหมด ส่วนในเนื้อหาสาระเฉพาะเรื่อง เช่นในด้านการค้า จะเป็นภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ และด้านอื่นๆ ก็เป็นของกระทรวงที่เกี่ยวข้องชำนาญการในด้านนั้นๆ ไม่มีเรื่องใดต้องมาแย่งกันอย่างที่เข้าใจ

บทบาทของไทยในเวทีโลก

ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บทบาทของไทยในเวทีโลก มีความโดดเด่นอย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับขององค์การระหว่างประเทศตลอดจนประเทศต่างๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ได้แก่ การเข้าไปมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งนอกจากในกรอบของสหประชาชาติแล้ว ไทยยังได้ให้ความร่วมมือในกรอบทวิภาคีโดยผ่านโครงการความช่วยเหลือต่างๆ ด้วย

ในกรณีของอัฟกานิสถาน ประเทศไทยก็ได้เข้าไปมีบทบาทในการฟื้นฟูประเทศทั้งในด้านการกู้กับระเบิด และในเรื่องโครงการปลูกพืชทดแทน การสร้างเศรษฐกิจในป่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายยอมรับ

นอกจากนั้น ยังมีตัวอย่างของการเจรจาสันติภาพในศรีลังกา ซึ่งไทยได้เข้าไปมีบทบาทเช่นกัน

การยอมรับในบทบาทของไทยเห็นได้ชัดเจน จากกรณีที่เมื่อผู้นำประเทศไทยได้ไปประชุมระหว่างประเทศครั้งใดจะได้รับการยกย่องในท่าทีของไทย และจะมีผู้นำประเทศอื่นต้องการจะเข้ามาหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเป็นจำนวนมาก

ล่าสุดในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2546 เป็นต้น ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ถึง 19 ประเทศ

ด้านการลงทุน ความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่อนโยบายการลงทุนของไทยเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของแต่ละบุคคล ซึ่งรัฐบาลได้ย้ำอย่างชัดเจนมาโดยตลอดว่า ไทยจะมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากในระดับประชาชน ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจเสรีภายนอกประเทศอย่างเกื้อกูลและสมดุล ทั้งนี้ เพื่อให้โครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศมีความแข็งแกร่งและเป็นภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ทำความเข้าใจเรื่องนี้กับภาครัฐ และเอกชนต่างประเทศมาโดยตลอด

นอกจากนี้ จากการดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจของไทยที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ มากขึ้น ภายใต้นโยบาย Forward Engagement ยังช่วยให้ภาคเอกชนไทยมีลู่ทางในการลงทุนและทำการค้าในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เช่น นักลงทุนไทยได้งานก่อสร้างในกาตาร์ หรือการที่ภาคเอกชนไทยสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นซึ่งหากความสัมพันธ์ในภาพรวม และบรรยากาศทางการเมืองไม่ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นแล้วโอกาสที่จะส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้นก็จะไม่มีตามมา

ทั้งหมดนี้คือของจริงที่เกิดขึ้นภายใต้การทูตเชิงรุกด้านเศรษฐกิจ ในด้านอื่นๆ ยังมีอีกที่จะเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทูตภาคประชาชน การส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ โดยสรุป ผมอยากให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อเท็จจริงมากขึ้นเพื่อประกอบการประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับนักวิชาการก็ต้องช่วยกันประเมินโดยค้นคว้าข้อมูลให้รอบคอบ มีหลักเกณฑ์ในการวิเคราะห์และนำเสนอที่ปราศจากอคติ หรือ ความรู้สึกส่วนตัว เพราะท่านทำในนามสถาบันวิชาการอันทรงเกียรติไม่เช่นนั้น ผู้อ่านอาจจะให้เกรด F แก่บทความท่านได้

ไม่มีความคิดเห็น: