วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

นโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทักษิณ

"การประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทักษิณในรอบ 1 ปี "

ศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ (Center for International Policy Studies : CIPS ) ขอนำเสนอบทวิเคราะห์ของ ผศ.ดร. ประภัสสร์ เทพชาตรี ผู้อำนวยการศูนย์ฯ เกี่ยวกับการประเมินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทักษิณในรอบ 1 ปี ดังนี้

1.ภาพรวม

รัฐบาลชุดนี้ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้วอย่างไร ที่ชัดเจน คือ การกลับมาเน้นให้ความสำคัญกับความ สัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างเอเชีย ลดความสำคัญของประเทศตะวันตก เช่น การปรับความสัมพันธ์กับประเทศพม่า การเดินทางไปเยือนจีนหลายครั้ง และแทบจะไม่ให้ความสำคัญกับอเมริกา จนเมื่อเหตุการณ์ 11 กันยายน จึงถูกบีบให้ร่วมมือกับอเมริกา ซึ่งรัฐบาลทักษิณก็ดูไม่ค่อยจริงใจและเต็มใจเท่าไหร่ และที่ไปอเมริกาก็ไปเป็นประเทศสุดท้าย นอกจากนี้รัฐบาลชุดนี้ยังไม่ให้ความสำคัญ กับเรื่องสิทธิมนุษยชน (ซึ่งก็ต่างจากสมัยรัฐบาลชวน) และยังมีกระแสของนโยบายชาตินิยม เอเชียนิยม ภูมิภาคนิยม อีกด้วย

2. ตอนที่ ดร. สุรเกียรติ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศใหม่ๆ มีการแถลงข่าวว่า รัฐบาลจะเน้นประเด็นต่างๆ 8 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผมจะย้อนกลับไปดูว่า 8 เรื่องที่จะทำนั้น ตอนนี้ทำไปถึงไหนแล้ว

2.1 นโยบายต่างประเทศจะครอบคลุมมิติต่างๆ คือไม่ใช่นโยบายต่างประเทศของกระทรวงต่างประเทศเท่านั้น แต่จะเป็นนโยบายต่างประเทศที่เน้นในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การคมนาคม การท่องเที่ยว และเรื่องอื่นๆ ซึ่งมีหลายมิติ เท่าที่ติดตามดูทางกระทรวงต่างประเทศ ก็พยายามเน้นหลายมิติ เวลาไปไหนก็จะมีพูดถึงเรื่องการค้า และความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งมิติต่างๆ ที่ออกมาค่อนข้างชัดเจนกว่าสมัยรัฐบาลชวน รัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าในสมัยรัฐบาลชวน

2.2 การทูตเชิงเศรษฐกิจ (economic diplomacy) นโยบายต่างประเทศเน้นเรื่องเศรษฐกิจ สังเกตได้ว่า เวลาไปเยือนที่ไหนก็ตามจะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ และจะมีผลงานที่เป็นความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าจะไปญี่ปุ่น จีน อินเดีย หรือ ประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าค่อนข้างจะมีอะไรที่เป็นรูปธรรม ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในเรื่องเศรษฐกิจยังแบ่งเป็นเรื่องการค้า การลงทุน การเงิน ซึ่งการลงทุนตอนแรกมีปัญหามาก โดยเฉพาะช่วงแรกๆที่ท่านนายกฯ ไปกล่าวสุนทรพจน์ที่ ESCAP และมีการตีความกันว่า รัฐบาลมีนโยบายต่อต้านการลงทุนจากต่างชาติ มีลัทธิชาตินิยมจัด ทำให้ต่างชาติเริ่มไม่มั่นใจที่จะมาลงทุนในไทย ทำให้ตอนหลังท่านนายกฯ ต้องไปพูดแก้ที่ ฮ่องกง ในช่วงแรกๆ บรรยากาศการลงทุนไม่ดีเลย จนหลังๆค่อยกระเตื้องขึ้น นิ่งขึ้น ในแง่ของนโยบาย บรรยากาศของการลงทุนและนโยบายของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการลงทุน

2.3 ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศก็พยายามจะปรับความสัมพันธ์กับประเทศพม่า มีการเดินทางไปเยือนพม่า ผู้นำพม่าก็เดินทางมาเยือนไทย ซึ่งรู้สึกว่าความสัมพันธ์ก็ดีขึ้นโดยรวม ตอนนี้ก็นิ่งขึ้น แม้จะไม่มีอะไรโดดเด่นนัก แต่ก็ไม่ถึงกับเลวร้าย ถึงแม้ว่าที่รัฐบาลเคยบอกว่า จะมีการร่วมมือด้านการป้องกันยาเสพติด ตอนนี้ก็เงียบๆไป ซึ่งตอนแรกจะเน้นในเรื่องนี้มาก แต่ตอนนี้ดูเหมือนกับว่า พม่าไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ ในตอนแรกก็ฮือฮากันว่า จะมีการประชุมสุดยอด 3 ฝ่าย 4 ฝ่าย แต่ตอนหลังก็เงียบไป ซึ่งผมคิดว่า พม่า จีน ลาว ก็คงไม่อยากจะร่วมด้วยเท่าไรนัก ซึ่งตรงนี้ต้องดูต่อไปว่าในที่สุดแล้วจะออกมาอย่างไร พรรคไทยรักไทยในช่วงหาเสียง เคยพูดกระทบพรรคประชาธิปัตย์ทางอ้อม โดยบอกว่าความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านใช้นโยบายแบบตะวันตกไม่ดี จะต้องใช้แบบเอเชีย คือต้องมานั่งจับเข่าคุยกันในแบบเอเชีย จะต้องไม่ไปพูดถึงเรื่องภายในของเขา เรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ผมเห็นว่า ข้อเสีย คือกลายเป็นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็ปล่อยทิ้งไม่ให้ความสำคัญ เราก็เหมือนเป็นประเทศที่ไม่มีหลักการ

2.4 เรื่องกรอบรวม กรอบใหญ่ในเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue) มีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่ง คือเรื่องที่ดร. สุรเกียรติ์ บอกว่าอยากจะสร้างความร่วมมือใหม่ โดยให้ไทยเป็นตัวเชื่อมระหว่างเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออก เวลาไปที่ไหนก็มีการเสนอความคิดนี้ เช่น เวลาไปจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ก็มีการกล่าวถึงเรื่องนี้ และเท่าที่ดูจากสื่อ ประเทศเหล่านี้ก็ตอบรับ ยินดีที่จะร่วมมือกับไทยในการสร้างกรอบใหม่นี้ขึ้นมาและตรงนี้ก็ถือว่ามีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะยังไม่เป็นรูปร่างขึ้นมา แต่ก็มีความคืบหน้า รัฐบาลดูจะเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ อีกเรื่อง คือ เรื่องอาเซียน บทบาทของไทยในอาเซียนดูตกต่ำลงไป ถ้าเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนๆ โดยเฉพาะรัฐบาลชวน จะเห็นว่าในช่วงเกือบปีที่ผ่านมา ไทยเราแทบจะไม่มีบทบาทอะไรในอาเซียนเลย เวลาไปประชุมเราก็ไม่ได้เสนออะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน หรือว่าเป็นความคิดริเริ่มที่จะทำให้ไทยมีบทบาทนำอะไรในอาเซียน เราเงียบๆในอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถือว่าเป็นความล้มเหลวของนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลชุดนี้

2.5 ดร.สุรเกียรติ์ ใช้คำว่า "Forward Engagement" นโยบายเกี่ยวพันในเชิงรุก คือ จะรุกไปสร้างกลไกใหม่ จะไปกระชับความสัมพันธ์สร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมา ซึ่งคล้ายๆกับ Asia Cooperation Dialogue สำหรับโครงการความร่วมมือ ในกรอบเหลี่ยมเศรษฐกิจทั้งหลาย ซึ่งผมเห็นว่า รัฐบาลก็พยายามจะชุบชีวิตโครงการเหล่านี้ขึ้นมา อาทิ การจัดประชุมลุ่มแม่น้ำโขง แต่ว่าบรรยากาศไม่ให้ขณะนี้ ฟุบไปหมด คือ ชุบชีวิตไม่ขึ้น เพราะทุกประเทศก็กำลังแย่กันอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะชุบชีวิตโครงการเหล่านี้ที่เคยโดดเด่นมากๆ ก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา ทุกอย่างก็ฟุบไปหมด และที่ดร.สุรเกียรติ์เคยพูดว่า จะสร้าง G ใหม่ขึ้นมา (ตอนนี้มี G7 G8 G20) แต่ว่าก็ยังเงียบๆอยู่ ผมไม่แน่ใจว่า G ใหม่ของดร.สุรเกียรติ์ คือ Asia Cooperation Dialogue หรือเปล่า ถ้าเป็นคนละอันกัน ก็หมายถึงว่า G ใหม่นั้นยังไม่เกิด ยังไม่มีอะไร

2.6 ไทยกับมหาอำนาจ

2.6.1 ไทยกับญี่ปุ่น ในตอนแรกไม่ค่อยมีอะไร ก่อนนายกฯ ทักษิณไปเยือน ก็ไม่มีความสัมพันธ์อะไรที่โดดเด่น แต่หลังไปเยือนญี่ปุ่นเมือเดือนที่แล้ว ก็ดูจะมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง มีการลงนามในกรอบร่วมมือทางเศรษฐกิจทีเป็นกรอบความร่วมมือระยะยาวตั้งแต่ปีค.ศ.2001-2005 สมัยก่อนจะมีสมุดปกขาวไทยกับญี่ปุ่น ที่เป็นเรื่องของประเด็นต่างๆที่จะร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก่อน จะไม่มีการเซ็นกัน คล้ายๆกับฝ่ายไทยทำแล้วเอาไปยื่นให้ญี่ปุ่น แล้วก็เอาไปเจรจากับญี่ปุ่น แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ร่วมกันทำทั้ง 2 ฝ่าย เสร็จแล้วก็มาลงนามร่วมกัน ซึ่งน่าจะดูดีกว่าสมัยก่อน ซึ่งสมัยก่อนญี่ปุ่นก็บ่นมาตลอดว่า ไทยทำของเราขึ้นมาเองแล้วก็ไปเรียกร้องเขา ทำให้เขาเหมือนถูกมัดมือชก ความสัมพันธ์ไทยกับญี่ปุ่นอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่ในกรอบนี้ บอกว่าจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาเขตการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งก็คงอีกนาน อาจจะมีปัญหาหรือทำไม่สำเร็จ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ แต่อย่างน้อยก็มีความคิดริเริ่มนี้ขึ้นมา และถ้าสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทยอย่างมากทีเดียว ทางด้านเศรษฐกิจ การค้า เพราะสามารถเจาะตลาดญี่ปุ่นได้มาก เพราะตอนนี้สินค้าเรามีปัญหากับตลาดญี่ปุ่นมาก ในเรื่องของการปิดตลาดของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าเกษตร ถ้าเป็นเขตการค้าเสรีก็จะดีขึ้นมาก แต่ตรงนี้ก็เป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีความคืบหน้าที่ดี

2.6.2 อีกเรื่องคือ ไทยกับจีน ในบรรดามหาอำนาจด้วยกันทั้งหมด ความสัมพันธ์กับจีนจะมีความเป็นพิเศษมากที่สุด และไทยก็ให้น้ำหนักมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นเพราะไทยเริ่มมองเห็นแววแล้วว่า จีนกำลังจะเด่นขึ้นมา คงจะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งในเอเชียในอีกไม่นาน ซึ่งอาจจะแซงหน้าญี่ปุ่นในอนาคตด้วยซ้ำ ซึ่งตอนนี้อะไรๆ ก็ไปที่จีนหมด 70% ของการลงทุนในเอเชียไปที่จีน ในอาเซียนเหลือไม่ถึง 20% มันกลับตาลปัตรไปหมด ในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ การลงทุนในเอเชียกว่า 60% มาอาเซียน แค่ 18% ไปจีนเท่านั้น พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา และจีนบูมขึ้นมา ตอนนี้กลายเป็นว่าการค้าการลงทุนไปจีนหมด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องปรับไปใกล้ชิดกับจีนไว้ ผมรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้ก็มองเห็นโอกาสตรงนี้ และพยายามใกล้ชิดกับจีน การประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีน ก็มีการตกลงว่า จะจัดทำเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีนขึ้นมา และการที่จีนเข้า WTO ก็มีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีก็คือ จีนก็คงจะต้องเปิดตลาดให้มากขึ้น ให้เป็นไปตามกรอบของ WTO สินค้าเราก็จะเข้าไปในจีนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็จะมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ตลาดจีนก็จะยิ่งดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น และยิ่งเป็นคู่แข่งของไทยในเรื่องของการค้า การลงทุน มากขึ้นไปอีก ดังนั้นไทยจะต้องปรับตัว คือ เราคงจะไปแข่งกับจีนในตลาดล่างไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องปรับตัวขึ้นไปตลาดกลาง ตลาดบน โดยสรุป ภาพรวมความสัมพันธ์ไทยกับจีนก็ดูดีขึ้น และดูเด่นในช่วงเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา

2.6.3 อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ไทยกับตะวันตกก็ดูไม่ค่อยดีนัก และไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในรอบปีที่ผ่านมา ไม่ว่ากับสหรัฐหรือยุโรป เราแทบจะไม่พูดถึงสหรัฐกับยุโรปเลย เราเน้นแต่เอเชีย เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นความล้มเหลวเรื่องหนึ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายน ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐทรุดลงไป เพราะท่าทีของเราในเรื่องการสนับสนุนอเมริกานั้น ดูเขวดูรวนเรในตอนแรกๆ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น เราบอกว่าเราจะเป็นกลาง เสร็จแล้วก็ได้รับโทรศัพท์จากประธานาธิบดีบุช แล้วรัฐบาลก็ต้องรีบประชุมด่วน พอออกมาท่าทีก็เปลี่ยนไปว่าจะสนับสนุนสหรัฐอย่างเต็มที่ เมื่อมีเสียงต่อต้านจากชาวไทยมุสลิม รัฐบาลก็เปลี่ยนท่าทีอีก ท่าทีที่ 3 ก็คือ เราสนับสนุน UN เราปฎิบัติตาม พันธกรณีของ UN อาเซียน และเอเปค แต่ไม่พูดว่าเราสนับสนุนอเมริกาเลย จะพูดถึง UN ตลอด และก็มีเรื่องอู่ตะเภา เราก็คลุมเครืออีก อ้างว่าการใช้ที่ให้เครื่องบินมาจอดนั้นเป็นเรื่อง routine ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสงครามในอัฟกานิสถาน แต่บางคนบอกว่าใช่ รัฐบาลก็อ้ำอึ้ง คลุมเครือ และเลี่ยงไป ดูตอนที่ยังไม่ได้ไปเยือนสหรัฐฯ ก็คือความสัมพันธ์ไม่ดี จุดยืนของประเทศไทยในเรื่องสงคราม 11 กันยายน ทำให้ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐไม่ดี มีข่าวว่าอเมริกาต้อนรับเราไม่ดีเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับต้อนรับผู้นำของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย สะท้อนให้เห็นว่าอเมริกาไม่ค่อยพอใจในจุดยืนของเรา เราไม่เต็มใจที่จะสนับสนุนอเมริกา รวมไปถึงอเมริกาคงมองว่าตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้ขึ้นมา เราค่อนข้างเอียงไปทางจีน ไม่ค่อย Pro ตะวันตก และมีนโยบายออกมาในเชิงชาตินิยม มีท่าทีแข็งกร้าวต่อตะวันตก ซึ่งหลายๆอย่างนี้ทำให้อเมริกามองไทยไม่ค่อยดีนัก การที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น ขึ้นอยู่กับว่า เราจะแก้ภาพลักษณ์ของเราได้มากน้อยแค่ไหน เราจะดำเนินนโยบายแบบที่เราถนัด คือ นโยบายตีสองหน้า ได้มากน้อยแค่ไหน และสหรัฐฯ จะหลงกับนโยบายตีสองหน้าของเราแค่ไหน การดำเนินนโยบายในลักษณะที่ผ่านมา บางคนอาจจะมองว่าก็ดี เพราะเราไม่ได้เป็นลูกไล่ของสหรัฐอีกแล้ว อาจเป็นเพราะรัฐบาลมองบรรยากาศความรู้สึกของคนไทยทั่วไป ว่าเป็นแบบนี้ นโยบายจึงเป็น "populist policy" คือเป็นนโยบายตามกระแส แต่เราก็ต้องดูด้วยว่า ผลประโยชน์แห่งชาติคืออะไร ถ้าเราจะไปแข็งกร้าวกับอเมริกาแล้วเราเสียประโยชน์ ก็ไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้อง นโยบายต่างประเทศที่ถูกต้อง ต้องขึ้นอยู่กับผลประโยชน์แห่งชาติ ซึ่งเราจะต้องโอนอ่อน ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ การทูตของไทยที่ผ่านมา เราไม่เคยแข็งกร้าวกับใคร เราใช้นโยบาย "สนลู่ลม" มาโดยตลอด แต่ตอนนี้ถ้าเราจะมาแข็งกับอเมริกา แล้วทำให้ความสัมพันธ์ไม่ดี ผลเสียก็จะเกิดขึ้น ฉะนั้นเราจะตามกระแสไม่ได้ ถ้าจะเปรียบเทียบ รัฐบาลประชาธิปัตย์อาจจะถูกมองว่าเอาใจอเมริกามากเกินไป ดังนั้นนโยบายที่ดีต้องหาจุดสมดุลว่าอยู่ตรงไหน อย่าให้มากเกินไป หรือน้อยเกินไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

รัฐบาลชุดนี้เอียงไปทางจีนหรือตามกระแสมากไป รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับอเมริกาน้อยเกินไป ล่าสุด การเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ของท่านนายกฯ ทักษิณเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผลการเยือนครั้งนี้ก็ไม่ถึงกับล้มเหลว แต่ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จอะไรมากมายนัก ได้ข่าวว่านายกฯ ทักษิณ ได้คุยกับประธานาธิบดีบุชเพียง 20 นาที เรื่องที่อเมริกากำลังสนใจอยู่ขณะนี้ คือ เรื่องการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งฝ่ายไทยเราก็บอกว่า เราก็ยินดีให้ความร่วมมือกับสหรัฐ ฯ แต่ผมดูแล้ว ความร่วมมือและการสนับสนุนที่ฝ่ายไทยให้ก็เป็นแบบไม่ค่อยเต็มใจ ไม่เต็มที่ ไม่เหมือนกับพันธมิตรของอเมริกาในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้ประกาศจุดยืนให้ความร่วมมือกับอเมริกาอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ก็มีการลงนามกันในระดับ รัฐมนตรีต่างประเทศในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คงจะเป็นหลักการกว้าง ๆ คงจะไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่สิ่งที่ควรเป็นรูปธรรม คือเรื่องเม็ดเงินในเรื่องตลาดการส่งออก และ เรื่องการลงทุน แต่ทั้งสองเรื่องนี้ตอนนี้ก็กำลังอยู่ในสภาวะย่ำแย่ การส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐฯ ในปีนี้ก็ลดลงอย่างมาก การลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยก็ลดลงกว่า 60% ส่วนข้อเสนอของไทยที่จะให้อเมริการ่วมมือให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการบินนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมเช่นเดียวกัน

2.7 "public diplomacy" รัฐบาลชุดนี้จะฟังเสียงประชาชน ทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องนโยบายต่างประเทศ จะมีบัวแก้วสัญจร ในแง่ดึงเอากลุ่มต่างๆมาช่วยกันคิด ดูเหมือนรัฐบาลจะมีความพยายาม มีการจัดสัมมนา ทำ Work Shop ระดมนักวิชาการเข้าไปช่วยกันคิด

2.8 สิทธิมนุษยชน ในช่วงที่ดร.สุรเกียรติ์ เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆก็ใส่เรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าไปในนโยบายด้วย แต่ในทางปฎิบัติไม่พูดถึงเลย กลายเป็นว่า ตรงกันพอดี ในยุคของคลินตันซึ่งเขาเน้นสิทธิมนุษยชน และพอดีกับรัฐบาลชวน ดร.สุรินทร์ก็เน้นสิทธิมนุษยชน ทำให้ตอนนั้นไทยกับสหรัฐสนิทกัน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ไทยก็ไม่เอาสิทธิมนุษยชน เพราะถ้าเราเน้น ก็จะไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน อเมริกาก็ไม่เอาแล้วเพราะว่าตอนนี้ต้องไปสร้างพันธมิตรเพื่อจะมาสู้กับขบวนการก่อการร้าย เพราะฉะนั้นเรื่องสิทธิมนุษยชนจึงไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว

3. รัฐบาลทักษิณกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการต่างประเทศ ในทัศนะของผม ผมมองว่ายุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของไทยควรเน้น 11 ประเด็นด้วยกัน ในส่วนนี้ผมจะประเมินว่านโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทักษิณได้บรรลุยุทธศาสตร์ดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน:

3.1 ในทัศนะของผม นโยบายต่างประเทศไทย ควรเป็นนโยบายเดินสายกลาง ควรให้น้ำหนักประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศมหาอำนาจเท่าๆกัน แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลโอนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ให้น้ำหนักกับประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไป มหาอำนาจก็ให้น้ำหนักกับจีนมากเกินไปจนไม่สมดุล

3.2 นโยบายที่ดี ควรจะเป็นนโยบายที่เราควรเป็นทั้งพลเมืองที่ดีของโลก และเป็นเพื่อนบ้านที่ดี ถ้าเราจะเป็นพลเมืองที่ดีของโลกก็ต้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แต่เราก็จะเป็นเพื่อนบ้านที่ไม่ดี ทะเลาะกับเพื่อนบ้าน ถ้าจะเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เราก็จะเป็นพลเมืองโลกที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรจึงจะเป็นทั้ง 2 อย่าง รัฐบาลชุดนี้เลือกเป็นเพื่อนบ้านที่ดีและเป็นพลเมืองโลกที่ไม่ดี โดยเฉพาะการไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องสิทธิมนุษยชน

3.3 ไทยควรเป็นตัวเชื่อมในความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ : นโยบายของรัฐบาลชุดนี้สะท้อนออกมาในข้อเสนอ Asia Cooperation Dialogue ถือว่าใช้ได้

3.4 อีกเรื่องคือ รื้อฟื้นยุทธศาสตร์ชาติที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอนุภูมิภาคทางด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลชุดนี้กำลังรื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา แต่คงลำบาก เพราะสถานะทางเศรษฐกิจของไทย

3.5 อีกเรื่องที่ผมคิดว่าจะเป็นปัญหาในอนาคต ซึ่งเราต้องกำหนดจุดยืนของเรา ซึ่งค่อนข้างยาก คือเรื่องของการปะทะกันระหว่างอารยธรรม หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน เราจะมีจุดยืนอย่างไรในการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งตอนนี้เราเดินตามกรอบชอง UN จะมีอะไรไหมที่เราจะกำหนดบทบาทที่ชัดเจนมากกว่านี้ การปะทะกันระหว่างอารยธรรม ความขัดแย้งระหว่างตะวันตกกับอิสลาม เราจะกำหนดจุดยืนอย่างไร ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้รวนเรอยู่พักหนึ่ง คือ ใจหนึ่งก็ไม่อยากเข้าไปยุ่ง อยากที่จะเป็นกลาง แต่อีกส่วนหนึ่งเราเป็นกลางไม่ได้เพราะอเมริกาบีบให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง

3.6 เรื่องประชาธิปไตย จุดแข็งของไทยคือ ประชาธิปไตย เพราะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยคืออันดับหนึ่ง แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ตรงนี้เลย เราเป็นผู้นำประชาธิปไตย แต่เราทิ้งประเด็นสิทธิมนุษยชนไป ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องผิดพลาดในนโยบายของรัฐบาลทักษิณ

3.7 เรื่องเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างที่เกี่ยวกับระบบราชการ นโยบายต่างประเทศ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รัฐบาลชุดนี้ แรกๆก็ดูเอาจริงเอาจัง จะมีการตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมา ตั้งกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ทีมไทยแลนด์ แต่กระทรวงการค้าตอนนี้เงียบไป ถ้ามีกระทรวงนี้ขึ้นมาจะเป็นผลดีหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจน เพราะมีหลายทางเลือก ทำไมรัฐบาลเลือกกระทรวงการค้า ทำไมไม่โอนงานด้านการเจรจาการค้ามาอยู่กระทรวงต่างประเทศ ทำไมไม่ตั้งเป็น USTR แบบของสหรัฐ ของไทยมี TTR แต่ไม่มีบทบาท บทบาทเป็นเพียงเฉพาะกิจ

3.8 อินเดียดูเหมือนเป็นไพ่ใบใหม่ของไทย กำลังจะมีความสำคัญมากขึ้น นายกฯทักษิณจึงเดินทางไปเยือนอินเดีย ไปกระชับความสัมพันธ์ จึงเป็นแง่บวกในนโยบายต่างประเทศไทย

3.9 เกาหลีกำลังจะเป็นมหาอำนาจ ตัวแสดงที่สำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ดูเหมือนเราจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเกาหลีเท่าไรนัก

3.10 ไทยสามารถมีบทบาทในการเป็นผู้ริเริ่มการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก Asian Currency หรือ Asian Monetary Fund แต่รู้สึกเราค่อนข้างจะตามเขามากกว่า กระทรวงการคลัง ดร.สมคิด ไม่มีบทบาท มุ่งแต่เรื่องภายใน มิติเรื่องต่างประเทศของกระทรวงการคลัง แทบจะไม่มีบทบาท และเราก็ตามเขา ญี่ปุ่นจะว่ายังไงเราก็ตาม เราไม่มีบทบาทที่โดดเด่น

3.11 เขตการค้าเสรีทวิภาคี เราก็กำลังทำอยู่ เช่นไทยกับญี่ปุ่น ไทยกับออสเตรเลีย กำลังมีการเจรจากันอยู่ มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง

สรุป นโยบายต่างประเทศของไทย ของรัฐบาลทักษิณในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จในบางเรื่อง ล้มเหลวในบางเรื่อง แต่ก็ไม่ถึงกับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หรือประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ดังนั้นผมขอให้เกรดรวมเป็นเกรด B ครับ

………………………………………… * ข้อคิดเห็นในข่าวสารนิเทศฉบับนี้เป็นทัศนะส่วนตัว มิใช่ทัศนะของศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ

* ข้อคิดเห็นในข่าวสารนิเทศฉบับนี้เป็นทัศนะส่วนตัว มิใช่ทัศนะของศูนย์ศึกษานโยบายระหว่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น: