วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

สัจจะนิยม/สัจจะนิยมใหม่

ลัทธิสัจนิยม ( Realism )



แนวความคิดนี้บางครั้งเรียกว่า power-politics มีอิทธิพลต่อการศึกษาการเมืองโลกและต่อแนวความคิดของผู้จัดทำนโยบายต่างประเทศ จุดเด่นของทฤษฎีนี้ก็คือ การมองว่ารัฐ และระบบรัฐเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบการเมือง



ต้นแบบของแนวความคิดนี้ก็ คือ การเน้นที่รัฐว่าเป็นตัวแสดงหลักในการเมืองโลก และข้อเสนอที่สำคัญของแนวความคิดนี้ก็ คือ เมื่อวัตถุประสงค์ของการปกครองก็คือ ความอยู่รอดของชาติ ในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นศัตรูกัน การแสวงหาอำนาจ จึงเป็นเป้าหมายของนโยบายต่างประเทศที่มีเหตุผลถูกต้องและไม่อาจหลีกเลี่ยงได้



แต่ความหมายทั่วไปของความคิดนี้ก็ คือ ความสามารถที่จะมีอิทธิพลเหนือ ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวแสดงพฤติกรรมของตัวแสดงอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐอื่นๆให้เป็นไปในแนวทางที่ตนเองต้องการ หรือในอีกด้านหนึ่งก็คือ ความสามารถที่จะต่อต้านอิทธิพลจากภายนอกที่จะมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตน เพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐจะทำได้ในการเมืองโลกก็ คือ หน้าที่ในการที่จะดำรงไว้ซึ่งอำนาจของตน และเพิ่มพูนอำนาจของตนด้วยจึงเป็นหัวใจในฐานะที่เน้นเรื่องความแตกต่างระหว่างขอบเขตภายในและขอบเขตภายนอก



ในความคิดนี้รัฐจะไม่ยอมรับว่ามีอำนาจที่เหนือกว่าอื่นใด เพราะฉะนั้นจึงต้องพึงตนเองในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองและเพื่อเป็นหลักประกันความอยู่รอดเพราะฉะนั้นผลประโยชน์ของรัฐจึงมีความหมายในรูปของอำนาจ และไม่รวมปัจจัยอื่นๆเช่นการส่งเสริมค่านิยมทางอุดมการณ์ หรือหลักการทางศีลธรรม ธรรมชาติของระบบรัฐที่เป็นอนาธิปไตยย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างสมรรถนะทางทหารให้เพียงพออย่างน้อยที่สุด ก็เพื่อป้องกันปราบปรามการรุกราน และเพื่อที่จะรักษาตนเองให้พ้นจากอันตราย แนวคิดนี้ตระหนักและเน้นย้ำอย่างสม่ำเสมอถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่จะเกิดในอนาคต เมื่อรัฐทุกรัฐพยายามที่จะแสวงหาการเพิ่มพูนอำนาจเทคนิคที่ดีที่จะควบคุมได้ก็ คือ การจัดตั้งระบบดุลแห่งอำนาจ



แนวคิดนี้มุ่งที่การควบคุมระบบ ซึ่งประกอบด้วยรัฐที่ต่างก็มีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ผู้ที่เชื่อในแนวความคิดนี้บางคน ยังอ้างว่าในเมื่อการแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ตนเองเป็น พื้นฐานของธรรมชาติของมนุษยชาติ ระบบรัฐจึงเป็นผลสะท้อนของธรรมชาติ


กลุ่ม Realists ย้ำยืนยันว่า ในสภาวะการของความขัดแย้งที่มีอยู่ตลอดเวลา และการแข่งขันในการเมืองโลกความร่วมมือก็เป็นไปได้ก็เพียงแต่เมื่อ ความร่วมมือนั้นให้ผลประโยชน์แก่รัฐ


ตัวอย่างประเทศที่มีพฤติกรรมตามแนวความคิดแบบสัจนิยม เช่น สหรัฐอเมริกา ที่พยายามอย่างสม่ำเสมอที่จะเพิ่มพูนอำนาจรัฐของตนเอง ด้วยยุทธวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้กำลังทางการทหาร การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจเข้าควบคุม หรือ บังคับประเทศหรือกลุ่มประเทศต่างให้กระทำการต่างๆ ตามที่กลุ่มของตนเองเรียกร้อง


ลัทธิสัจนิยมใหม่ (Neo-Realism )



บางครั้งเรียกว่า Structural Realism แนวความคิดนี้จะมุ่งความสนใจไปสู่ลักษณะที่เป็นโครงสร้างของระบบรัฐมากกว่า ที่จะเป็นหน่วยประกอบของระบบกล่าวคือแนวความคิดที่เกี่ยวกับโครงสร้างในที่นี้หมายถึง การทำให้เป็นระเบียบหรือ การจัดระเบียบของส่วนต่างๆของระบบและในความคิดของ waltz เห็นว่า โดยส่วยใหญ่แล้วข้อจำกัดทางด้านโครงสร้างของระบบโลกจะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของรัฐ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ระหว่างประเทศได้มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของหน่วยย่อยเฉพาะหนึ่งๆ



ตามคำกล่าวของเขาระบุว่า โดยการวาดภาพระบบการเมืองระหว่างประเทศทั้งหมดในระดับโครงสร้างและระดับหน่วยประกอบว่ามีทั้งที่แตกต่างกัน และเชื่อมโยงกันในขณะเดียวกันแนวคิดสัจนิยมใหม่ยังยืนยันถึงความเป็นอิสระของการเมืองระหว่างประเทศ แนวคิดสัจนิยมได้สร้างความคิดเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบ ซึ่งกำหนดขอบเขตที่นักศึกษาทางด้านการเมืองระหว่างประเทศจะต้องศึกษา และทำให้พวกเขาสามารถเห็นว่าโครงสร้างของระบบ และความผันแปรในระบบมีผลกระทบต่อหน่วยที่มีปฎิสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างไร และผลลัพธ์ที่โครงสร้างของระบบ และความผันแปรในระบบสร้างออกมาเป็นอย่างไร โครงสร้างระหว่างประเทศเกิดจากปฎิสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งหลาย และขณะเดียวกันก็ผลักดันรัฐต่างๆ ให้กระทำการบางอย่าง



ระบบยังคงเป็นอนาธิปไตยและหน่วยต่างๆก็ยังคงถือว่ามีอิสระ แต่ความเป็นอิสระก็ถูกจำกัดโดยโครงสร้างของระบบใหญ่ เช่น โครงสร้างของระบบระหว่างประเทศที่แบ่งโลกออกเป็น 2 ค่าย คือ ค่ายโลกเสรีและค่ายคอมมิวนิสต์ได้ มีผลต่อการวางกรอบและข้อจำกัดของพฤติกรรมของรัฐในแต่ละค่าย และเมื่อโครงสร้างใหญ่เปลี่ยนไปก็จะมี่ผลทำให้พฤติกรรมของรัฐเปลี่ยนไปและรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐก็เปลี่ยนไปด้วย



จุดต่างระหว่างสัจนิยมใหม่ และสัจนิยม คือ สัจนิยมจะเน้นเรื่องของอำนาจเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ และเน้นเอาหน่วยประกอบและคุณสมบัติตามภาระหน้าที่ของหน่วยจึงไม่สามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือ การแบ่งสรรอำนาจซึ่งเกิดขึ้นอย่างอิสระไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภายในหน่วยแต่ละหน่วยเหล่านั้น ในทางตางกันข้ามสัจนิยมใหม่จะอธิบายว่าโครงสร้างมีผลต่อพฤติกรรมและผลที่เกิดขึ้นอย่างไร



2 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

เราจะสามารถนำเรื่องราวไปรวมกับเรื่องราวของอาเซียนได้อย่างไรกันค่ะ (ช่วยอธิบาย)

Unknown กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ